เทียบขนาดระหว่าง "เบลเยียม" กับ "บราซิล"

เทียบขนาดระหว่าง "เบลเยียม" กับ "บราซิล"

เทียบขนาดระหว่าง "เบลเยียม" กับ "บราซิล"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าฟุตบอลทีมชาติเบลเยียมเพิ่งจะแพ้ทีมชาติฝรั่งเศส (ผู้ที่เพิ่งจะสถาปนาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2) ไปอย่างหวุดหวิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ก็ตาม แต่การที่ทีมชาติฟุตบอลของเบลเยียมสามารถเอาชนะทีมบราซิลอดีตแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัยในมหกรรมฟุตบอลโลกที่รัสเซียเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคมนี้ได้ด้วยการทำประตู 2-1 ประตู

ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาว่าเบลเยียมเป็นราชอาณาจักรเล็กๆ ในยุโรปตะวันตกที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2373 (สมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) มีเนื้อที่ครือๆ กับนครราชสีมาและนครศรีธรรมราชรวมกันคือ ประมาณ 30,538 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 11.3 ล้านคนเท่านั้น

เมื่อเทียบกับบราซิลแล้วต่างกันลิบลับ โดยที่บราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีเนื้อที่ถึง 8,511,965 ตารางกิโลเมตร และเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ มีประชากรร่วม 200 ล้านคน

แต่พอค้นคว้าไปได้หน่อยหนึ่งก็ได้ความว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (กว่า 2 ปีที่แล้ว) เบลเยียมได้รับการจัดอันดับให้เป็นทีมฟุตบอลอันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า นานอยู่ถึง 5 เดือน นับเป็นทีมที่ได้อยู่อันดับ 1 โดยที่ไม่เคยได้แชมป์ในรายการใหญ่ๆ ทั้งฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปมาก่อน

ครับ! เลยถึงบางอ้อ โดยไม่กังขาอะไรอีก

อีทีนี้ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เลยศึกษาประวัติศาสตร์การเกิดของประเทศเบลเยียมต่อไปเสียเลย เนื่องจากสนุกและโลดโผนดีมาก โดยเบลเยียมแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคใหญ่ๆ ได้แก่ แคว้นฟลานเดอส์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ และแคว้นวัลโลเนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศส  

ส่วนกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตฟลานเดอส์เป็นเขตทวิภาษาคือต้องพูดทั้ง 2 ภาษา เพราะแบ่งเขตพูดภาษาดัตช์กับภาษาฝรั่งเศสแบบสี่แยกเว้นสี่แยกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่พูดภาษาเยอรมันอยู่ทางตะวันออกของแคว้นวัลโลเนียด้วย และปัญหาขัดแย้งในเรื่องภาษาของเบลเยียมนี่เอง ทำให้เบลเยียมปราศจากรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2553 ถึงหนึ่งปีครึ่ง เพราะตกลงกันไม่ได้ต้องให้ข้าราชการประจำบริหารประเทศ จนในที่สุดจึงตกลงเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุตรของชาวอิตาลีชื่อ นายเอลีโย ดี รูโป ความวุ่นวายจึงยุติลงได้

เดิมเบลเยียมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์หรือที่คนไทยเราเรียกว่าฮอลันดาหรือวิลันดานั่นแหละ แต่ก็ได้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2373 (สมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) แล้วก็อัญเชิญเจ้าชายเยอรมันลีโอโปลแห่งราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา (ราชวงศ์เดียวกับกษัตริย์อังกฤษที่เปลี่ยนชื่อเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นราชวงศ์วินเซอร์นั่นแหละ)

ครับ! เบลเยียมเป็นประเทศเล็กๆ นี่แหละครับ แต่ก็ทำอะไรใหญ่ๆ มาแล้วเยอะ อาทิ มีอาณานิคมในแอฟริกาคือ เบลเยียมคองโก (ประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของแอฟริกาและใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก) รวันดา และบูรุนดี

ปัจจุบันเศรษฐกิจของเบลเยียมมีจุดเด่นคือ ผลิตภาพของแรงงาน รายได้ประชาชาติ และการส่งออกต่อประชากรสูง โดยการส่งออกของเบลเยียมคิดเป็นมากกว่าสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี โดยเบลเยียมได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ในศูนย์กลางพื้นที่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง อีกทั้งยังเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

สรุปได้ว่า เบลเยียมจัดเป็นประเทศที่พิลึกมากทีเดียว มีความแตกแยกแปลกประหลาดมาก แต่เศรษฐกิจกลับดีมากเสียด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook