เตรียมรับน้ำท่วมปี 52 เต็มที่ คาดไม่น่ามีปัญหา

เตรียมรับน้ำท่วมปี 52 เต็มที่ คาดไม่น่ามีปัญหา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กทม.พร้อมรับสถานการณ์น้ำปี 52 โดยเฉพาะฝนตก น้ำท่วมขัง อย่างเต็มที่ คาดปีนี้ฝนตกหนักช่วง ก.ย.-พ.ย.โดยเตรียมล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เตรียมกำลังคน เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ย้ำหากฝนไม่เกิน 60 มม./ชม.น้ำไม่ท่วม แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะอุดตันตะแกรงระบายน้ำ และวอนหน่วยงานสาธารณูปโภคไม่ทิ้งเศษวัสดุลงท่อ เมื่อวานนี้(7 พ.ค.52 ) ที่สำนักการรายน้ำ กทม.2 / ดร.ประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ปี 2552 ร่วมกับหัวหน้าฝ่ายโยธาของทุกสำนักงานเขต สำนักที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารสำนักการระบายน้ำให้ข้อมูลและชี้แจงรายละเอียดการเตรียมความพร้อม สำหรับการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2552 นี้ มีการรายงานสภาพอากาศและสภาวะฝน โดยเปรียบเทียบปริมาณฝนในปีที่ผ่านมาและปริมาณเฉลี่ยคาบ 30 ปี กับปีนี้ทั้งระยะเวลาที่ผ่านมาและการคาดการณ์ในระยะต่อจากนี้ ซึ่งจากการรายงานพบว่ามีฝนต้นฤดูตกลงมาเมื่อ 27 เม.ย.52 ปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในพื้นที่สถานีวัดน้ำฝนอุทยานเบญจสิริ 358 มม.ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังหลายจุด ซึ่งได้แก้ไขไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ฝนที่ตกในพื้นที่ กทม.มี 2 กรณี คือ กลุ่มฝนก่อตัวนอกพื้นที่ กรณีนี้สามารถทำนายและเตรียมการบริหารจัดการได้ อีกกรณีคือกลุ่มฝนก่อตัวในพื้นที่จากความชื้นและอุณหภูมิที่แตกต่างกันทำให้ไม่สามารถทำนายได้เพราะหากเกิดฝนตกจากการก่อตัวในพื้นที่แล้วจะไม่มีการตกแบบประปรายต่อเนื่องตามมา แต่ปัญหาที่สำคัญของการระบายน้ำที่ผ่านมาเกิดจากการอุดตันของท่อระบายน้ำ และขยะอุดตันตะแกรงบ่อพักน้ำ จึงขอความร่วมมือประชาชนและ จากการคาดการณ์ฝนตกโดยกรมอุตุนิยมวิทยาในปีนี้ คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 2-3 ลูก ก่อตัวในมหาสมุทราแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก (ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) หรือในทะเลจีนใต้ แล้วเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนาม เข้าสู่ประเทศไทยตอนบน หรือเคลื่อนตัวผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนในเดือน ส.ค.-ก.ย.52 และผ่านภาคใต้ในเดือน ต.ค.-พ.ย.52 ด้านการเตรียมพร้อมในพื้นที่ กทม.มีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำจากทั้งหมด 5,792 กิโลเมตร แต่มีแผนล้าง 3,811 กิโลเมตร เป็นของ สนน.976 กิโลเมตร เป็นของสำนักงานเขต 2,835 กิโลเมตร ในจำนวนนี้จ้างเหมากรมราชทัณฑ์และเอกชน เสร็จแล้ว 40% และดำเนินการเอง 56% รวมดำเนินการ 48.5% สำหรับจุดอ่อนน้ำท่วม 263 จุดใน 50 เขต มีการเตรียมกระสอบทราย 1.2 ล้านใบ เพื่อวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลองต่างๆ ส่วนการเปิดทางน้ำไหล คู คลอง ในพื้นที่จากจำนวนคลองทั้งหมด 1,071 คลอง ความยาว 1,450,623 เมตร เปิดทางน้ำไปแล้ว 589 คลอง ความยาว 789,121 เมตร คิดเป็น 55.02% การขุดลอกคูคลอง จากทั้งหมด 103 คลอง ความยาว 135,535 เมตร ขุดลอกไปแล้ว 67 คลอง ความยาว 84,529 เมตร คิดเป็น 62.37% ส่วนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ที่ติดตั้งตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ติดตั้งจำนวน 730 เครื่อง คิดเป็น 72% จากที่ต้องติดตั้งทั้งหมด การซ่อมบำรุงขณะนี้เกือบ 100% แล้ว นอกนั้นยังเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมในหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน BEST เครื่องจักรกล อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ พร้อมแล้ว และสถานีสูบน้ำทั้งหมด 150 สถานี อยู่ในฝั่งพระนคร 102 สถานี ฝั่งธนบุรี 48 สถานี ขณะนี้มีการซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำ 95.87% ซ่อมประตูระบายน้ำ 97.22% และซ่องเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ 69.72% ซึ่งในช่วงฤดูฝนนี้จะมีการเดินเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำและลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ที่ประมาณ -0.90 ถึง -0.50 เมตร รทก. และหากคาดว่าจะมีฝนตกจะรักษาระบน้ำไว้ที่ -1.00 ถึง -0.90 เมตร รทก. เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับปริมาตรความจุในการรองรับน้ำฝนได้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในภายหลังว่า หากปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ไม่เกิน 60 มม.ต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครสามารถระบายน้ำได้ไม่เกิดการท่วมขัง แต่หากเกินกว่านั้นจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง จึงขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะ ตรวจตราความสะอาด หน่วยงานสาธารณูปโภคที่ก่อสร้างบนถนนต้องไม่ทิ้งเศษวัสดุลงท่อระบายน้ำ หากมีปัญหาเรื่องการระบาน้ำ หรือน้ำท่วม แจ้งได้ที่โทร.0 2248 5115-20 และ 0 2246 0317-9 ตลอด 24 ชั่วโมง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook