พบ "หมูติดพิษสุนัขบ้า" ตายที่โคราช หลังถูกสุนัขกัด 2 สัปดาห์

พบ "หมูติดพิษสุนัขบ้า" ตายที่โคราช หลังถูกสุนัขกัด 2 สัปดาห์

พบ "หมูติดพิษสุนัขบ้า" ตายที่โคราช  หลังถูกสุนัขกัด 2 สัปดาห์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวิมุต ทนุธรรมนอก ปศุสัตว์อำเภอเมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาดจากที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอเมืองนครราชสีมา ณ หอประชุมอำเภอเมืองนครราชสีมา ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เขตพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา 12 ตำบล ประกอบด้วย ต.ในเมือง, ต.หนองระเวียง, ต.จอหอ, ต.พุดซา, ต.ตลาด, ต.หัวทะเล, ต.หนองบัวศาลา, ต.โพธิ์กลาง, ต.หนองไข่น้ำ, ต.พลกรัง, ต.หนองจะบกและต.สุรนารี 

โดยในจำนวนนี้ มี 10 ตำบล ที่มีผลการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัข ยกเว้น ต.พลกรัง พบเชื้อในหมู และ ต.โพธิ์กลาง พบเชื้อในแมว โดยหมูที่พบเชื้อมาจากหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ถูกสุนัขไล่กัดและมีอาการป่วยตายหลังถูกกัด 2 สัปดาห์ และเจ้าของได้ตัดเอาหัวหมูนำส่งให้ปศุสัตว์และส่งไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.สุรินทร์ มีผลออกมาพบเชื้อพิษสุนัขบ้าดังกล่าว  

ดังนั้น จึงเตือนให้ผู้นำท้องถิ่นแจ้งเตือนชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบชะล้างแผลด้วยน้ำเปล่าที่สะอาดและล้างด้วยสบู่ ทาแผลด้วยเบทาดีน แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อปฐมพยาบาลและเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดและห้ามผิดนัด จากนั้นให้กักขังสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่กัดหรือข่วนอย่างน้อย 10 วัน เพื่อสังเกตอาการผิดปกติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ และเมื่อสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตให้นำหัวส่งห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ส่วนสัตว์เลี้ยงทั่วไปเจ้าของก็ต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและโรคต่างๆ ตามกำหนด

ก.สาธารณสุขยันมีวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเพียงพอ วอนประชาชนอย่าตระหนก

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.) ได้ประชุมวิดีโอทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ กรณีวัคซีนพิษสุนัขบ้าในคน ว่า ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวการระบาดของพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวล มาขอรับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากกว่าปกติ 1.6 เท่าในช่วงเดือนม.ค. -มี.ค. และลดลงในเดือนเม.ย. 2561 รวมทั้งต้องการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ทำให้มีข่าวการขาดแคลนวัคซีนในคนตามมา 

จึงได้ให้สาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าในกลุ่มคนทั่วไปไม่มีความจำเป็น เพราะหากถูกสัตว์กัดก็ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าอีก ซึ่งการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในคนขอให้เป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติ คือจะฉีดวัคซีนเมื่อถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด และจะฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์ ฟาร์มสัตว์เลี้ยงเช่น สุนัข แมว เป็นต้น

ส่วนการจัดหาวัคซีนในสถานบริการสาธารณสุขนั้นโรงพยาบาลสามารถดำเนินการจัดซื้อเอง ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้ทำการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางมาบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีผู้ผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐานในหลายประเทศและเพียงพอต่อความต้องการ โดยทั่วโลกไม่มีความต้องการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในคนเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งผลิตมีเพียงพอ 

อีกทั้ง ระบบการบริหารจัดการในภาพรวม คือในเขตสุขภาพที่ไม่มีการระบาดของสัตว์ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดูแล ส่วนเขตสุขภาพที่มีการระบาดของสัตว์ ให้เขตสุขภาพเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้เพียงพอ

ทั้งนี้ การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ไม่ได้ระบาดทั่วประเทศไทย แต่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 7,9,10 และภาคใต้เขต 12 ส่วนเขตอื่นพบการระบาดน้อยมากจนถึงไม่มีการระบาดในสัตว์ ทำให้การฉีดวัคซีนในคนน้อย 2 ปีที่ผ่านมา ในจ.ชลบุรี จ.ระยอง ที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 6 พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละเกือบ 10 ราย แต่ในปีนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากมีมาตรการเชิงรุกให้ความรู้ประชาชนให้มารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน และให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้ป่วยหากผู้ป่วยให้รับวัคซีนกระตุ้นจนครบ ซึ่งในปีนี้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นจากทุกปีแต่วัคซีนในแต่ละสถานพยาบาลไม่ขาดเพราะมีการบริการจัดการวัคซีนที่ดี มีการตรวจสอบวัคซีนทุกสัปดาห์

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งตรวจสอบวัคซีนทุกสัปดาห์ สถานพยาบาลใดที่มีปัญหาขาดวัคซีน ให้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือแจ้งมายังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เพื่อให้การสนับสนุนต่อไป หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook