ร.ร.ถ่ายโอนโอด!ท้องถิ่นหวงอำนาจฮุบแจกเรียนฟรี15ปี

ร.ร.ถ่ายโอนโอด!ท้องถิ่นหวงอำนาจฮุบแจกเรียนฟรี15ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : ร.ร.มัธยม 245 ที่ถ่ายโอนให้ อปท. น้ำตาเช็ดหัวเข่า โวย อบจ.กลับคำ ไม่ยอมมอบอำนาจบริหารจัดการให้ ร.ร. ระบุ อบจ.ไม่ยอมโอนเงินรายหัวให้สถานศึกษา แค่ ร.ร.จะซื้อชอล์กลังเดียวต้องวิ่งมาเบิกจาก อบจ. ซ้ำไม่ยอมโอนเงินค่าของฟรี 4 อย่างตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แถมรวบอำนาจจัดซื้อตำราเรียนเอง อบจ.บางแห่งรวบจัดซื้อชุด นร.และอุปกรณ์การเรียนด้วย นายอนุพงค์ ปุณฑริกกุล ผอ.ร.ร.เนินสง่าวิทยา จ.ชัยภูมิ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดองค์บริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นที่จะช่วยชาติได้ ที่ รร.ริยัล ซิตี้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ใจความตอนหนึ่งว่า สมาคมในฐานะที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนมัธยม 245 แห่ง ที่ ถ่ายโอน ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด 31 แห่ง ได้ยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง รศ.ดร.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เพื่อขอให้ช่วยสางปัญหาที่โรงเรียนต้องเผชิญกับสภาพยากลำบากในการบริหารจัดการศึกษาหลังโอนไปอยู่กับ อบจ. นายอนุพงค์ กล่าวต่อว่า โรงเรียนขาดอิสระในการบริหารจัดการศึกษา เพราะ อบจ.ไม่ยอมมอบอำนาจในการบริหารโรงเรียนให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังเช่นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยมอบอำนาจให้ ทำให้การบริหารจัดการขาดความคล่องตัว โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านการเงิน อบจ.ส่วนใหญ่ไม่ยอมโอนเงินอุดหนุนรายหัวทั้งหมดให้แก่โรงเรียน เหมือนเช่นที่ สพฐ.ปฏิบัติ มีเพียง อบจ.ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยอมโอนเงินอุดหนุนให้โรงเรียน แต่ก็ดำเนินการล่าช้ามาก โรงเรียนส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสภาพไม่มีเงินเลยสักบาท ต้องการจัดซื้ออะไรแม้แต่ชอล์กแค่ลังเดียวก็ต้องวิ่งมาขอให้ อบจ.ดำเนินการจัดซื้อให้ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันกับเหตุการณ์ สร้างปัญหาต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะบางโรงเรียนที่อยู่ห่างจากสำนักงานของ อบจ.เป็นร้อยกิโลเมตร ต้องการจะซื้ออุปกรณ์อะไรสักอย่างต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับหลายชั่วโมง ต่างจากสมัยก่อนที่อยู่กับ สพฐ.ซึ่งจะโอนเงินค่ารายหัวให้โรงเรียนโดยตรง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น นักเรียนทำอุปกรณ์การเรียนชำรุดต้องรีบจัดซื้อทดแทนโดยด่วน โรงเรียนก็สามารถจัดซื้อได้เลยทันที เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ อบจ.มอบและกระจายอำนาจ 4 ด้านให้โรงเรียน คือ บริหารจัดการ วิชาการ การเงิน และบุคคล เช่นเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจให้โรงเรียนในสังกัด รวมทั้งขอให้ อบจ.โอนเงินรายหัวให้โรงเรียนบริหารจัดการเองด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่โรงเรียนมัธยมจะ ถ่ายโอน ไปอยู่กับ อบจ.นั้น มีการตกลงเงื่อนไขกันออกมาเป็นมติของคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง (กกถ.) ว่า อบจ.จะต้องให้อิสระในการบริหารจัดการศึกษาแก่โรงเรียน รวมทั้งต้องโอนเงินรายหัวให้โรงเรียนด้วย นายอนุพงค์ กล่าว นายอนุพงค์ กล่าวต่อว่า อบจ.ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ อบจ.ทุกแห่งไม่ยอมจัดสรรงบประมาณค่าตำราเรียนให้โรงเรียนไปดำเดินการจัดซื้อตำราเรียน แต่ อบจ.กลับเป็นผู้จัดซื้อเองแล้วส่งให้โรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น อบจ.บางแห่งยังไม่ยอมจัดสรรเงินค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สถานศึกษาไปดำเนินการแจกเงินให้ผู้ปกครอง กลับรวบจุดซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเองทั้งหมด นอกจากนั้นโรงเรียนในสังกัด อปท.ยังไม่ได้รับการจัดสรรค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีการกำหนดให้ ท้องถิ่น ใช้เงินของตัวเองอุดหนุนเป็นค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แต่ อบจ.บางแห่งก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก รวมทั้งยังได้รับการจัดสรรค่าชุดนักเรียนแค่ครึ่งเดียวต่างจากโรงเรียนสังกัด สพฐ.ที่ได้รับการจัดสรรเต็มจำนวน เพราะฉะนั้นขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหานี้และจัดสรรงบค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและค่าชุดนักเรียนเพิ่มเติมให้ด้วย จริงๆ แล้ว การโอนไปอยู่กับ อบจ.ก็มีส่วนดี เช่นโรงเรียนได้อัตราครูเต็มที่ต่างจากสมัยอยู่กับ สพฐ. บางโรงเรียนยังได้รับการจัดสรรอุปกรณ์ด้วย แต่ข้อเสียคือ ขาดอิสระในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะบริหารการเงิน เพราะ อปท.ไม่ยอมโอนเงินรายหัวให้โรงเรียนโดยตรง แม้ว่าตามระเบียบ อบจ.ต้องใช้เงินรายหัวนี้ตามข้อบัญญัติงบประมาณที่โรงเรียนกำหนดร่วมกับ อบจ. แต่บาง อบจ.ก็ดำเนินการใช้เงินล่าช้า และหากไม่สามารถใช้เงินรายหัวให้หมดภายในปีงบประมาณ เงินรายหัวก็จะกลายเป็นเงินสะสมของ อบจ. นายอนุพงค์ กล่าว

ต่อข่าว อบจ.ฮุบเรียนฟรี ร.ร.ที่อุบลฯยังไม่จ่ายค่าชุดนร.โอนเงินไม่ครบ ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 30 มีนาคม ผู้ปกครอง ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต. ต.นาโพธิ์ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี กว่า 200 คน นำโดยนายจีระศักดิ์ ทองหล่อ ประธานศิษย์เก่าโรงเรียนโนนเขืองจงเจริญ ได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 5 อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เพื่อขับไล่นายเก่งกาจ แสนเลิง ผอ.โรงเรียนบ้านโนนเขืองจงเจริญ ออกนอกพื้นที่ โดยกล่าวหาว่าตลอด 8 ปีที่นายเก่งกาจเป็นผู้อำนวยการมีพฤติการณ์ไม่โปร่งใส การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ นักเรียนมีปัญหาการเรียนการสอนตกต่ำ ที่สำคัญคือ เงินเรียนฟรี 15 ปี ที่กระทรวงศึกษาธิการโอนให้โรงเรียนเพื่อมอบให้ผู้ปกครองไปซื้อชุดนักเรียน จนถึงวันนี้โรงเรียนยังไม่ยอมจ่ายเงินให้ผู้ปกครอง ทำให้ชาวบ้านทนพฤติกรรมดังกล่าวไม่ไหว จึงเดินทางมาชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ด้านนายเก่งกาจ กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงขับไล่ในครั้งนี้ น่าจะมีเบื้องหลัง เนื่องจากมีการขัดแย้งกันภายในโรงเรียน โดยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับข้อกล่าวหาของชาวบ้าน รวม 11 ข้อนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ยินดีที่จะให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการที่ทางเขตพื้นที่ลงมาสืบข้อเท็จจริง ส่วนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องที่โรงเรียนยังไม่จ่ายเงินค่าชุดนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองนั้น เนื่องจากโรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 560 คน ได้รับเงินที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน 296,550 บาท ซึ่งโรงเรียนจะต้องหาเงินจ่ายเพิ่มอีก 1.8 หมื่นบาท เพราะระดับอนุบาลและมัธยมได้รับเงิน 80% แต่โรงเรียนต้องจ่าย 100% โรงเรียนไม่มีเงินดังกล่าว จึงทำให้จ่ายเงินให้ผู้ปกครองช้า ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการโอนเงินเข้ามายังโรงเรียนเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนติดภาระเรื่องการแข่งขันกีฬา จึงทำให้ไม่ได้จ่ายเงินดังกล่าวได้ ต่อมานายวิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) อุบลราชธานี เขต 5 ได้ออกมาพบผู้ชุมนุม และเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าประชุมและรับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เบื้องต้นจะตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานแล้วพบว่าผู้ที่ถูกร้องเรียนมีความผิดจริง ก็จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณาย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านต่างพอใจ ก่อนพากันแยกย้ายกลับ นายวิชัย กล่าวว่า ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ล่าสุดได้สั่งให้โรงเรียนดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อนำไปซื้อชุดนักเรียน ภายในวันที่ 31 มีนาคม และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความบกพร่องของทางโรงเรียนที่ไม่สามารถทำการเบิกจ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง เรียงข่าวร้อยคน (อังคารที่ 24 มี.ค. 52) เฉลิมสรุปเดือดสุเทพท้ากลับลงมติ11โมง 6 ปีสงครามอิรักประชาชนยังอยู่ในอันตราย วอนรัฐช่วยสร้างเขื่อน กั้นตลิ่งพัง-ช่วยชุมชน ติงขึ้นเงินเดือนท้องที่กระทบกำลังใจท้องถิ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook