โลกเจาะไทยขุมทรัพย์ท่องเที่ยว ทัวร์ตากอากาศมาแรง-ศก.สะพัด 8 แสนล.

โลกเจาะไทยขุมทรัพย์ท่องเที่ยว ทัวร์ตากอากาศมาแรง-ศก.สะพัด 8 แสนล.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4092

วิเคราะห์

ทุกประเทศตื่นตัวกับการวางยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยว ตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก ตามที่ Jean-Claude Baumgarten ประธานและซีอีโอ สภาการเดินทาง-ท่องเที่ยวโลก (World Travel-Tourism Council : WTTC) กับ เจฟฟรี เคนท์ กรรมการผู้จัดการ WTTC และอะเบอร์ครอมบีแอนด์เคนท์ ร่วมกับออกฟอร์ด อีโคโนมิกส์ วิจัยเทรนด์และตลาดการเดินทาง-ท่องเที่ยว สำรวจข้อมูลจาก 181 ประเทศ ได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันจะต้องประคองตัวอีก 2 ปี พ.ศ.2553 กำลังซื้อนานาชาติจึงจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

สถิติปีเมื่อปี 2551 เติบโตแบบก้าวกระโดดแรงงานภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีมากถึง 225 ล้านคน สามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) พุ่ง 9.6% ต่างจากปี 2552 ถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบภายในประเทศและทั่วโลกทั้งจำนวนและรายได้หดตัวฉับพลัน ปี 2553 มีความท้าทายใหม่ๆ ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวเติบโตตามปกติ

WTTC วิเคราะห์ดีมานด์หรือความต้องการเดินทางของชาวต่างชาติที่พร้อมเข้าเมืองไทยตลอดทั้งปี 2552 กระจายเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจถดถอยลง 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 24.43% ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ใน 20 ประเทศ 75.57% และไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกได้เพียง 0.70%

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้ามา พักอาศัย หรือผู้ที่มี บ้านพักตาอากาศ จะเป็นผู้เล่นและตัวแปรหลักสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 13.8% คิดเป็นรอบวงเงินการใช้จ่ายหมุนเวียนสูงถึง 8.826 แสนล้านบาท

ขณะที่โครงสร้างของอุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวจากทั่วโลกในเมืองไทยจะใช้เงินหมุนเวียนจาก 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) นักเดินทาง-ท่องเที่ยว ส่วนตัวราว 5 แสนล้านบาท 2) นักธุรกิจ 1.55 แสนล้านบาท 3) คอร์ปอเรต 1.42 แสนล้านบาท 4) หน่วยงานรัฐ 1.3 หมื่นล้านบาท 5) ตลาดต่างประเทศ 6.92 แสนล้านบาท และ 6) การลงทุนของภาครัฐ+ ภาคเอกชน อีก 9 พันล้านบาท

จากนั้นเม็ดเงินจะกระจายออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรงไปยังการจ้างงาน 1.86 แสนล้านบาท เติบโตลดลง 2% และจีดีพี 5.76 หมื่นล้านบาท เติบโตลดลง 2.2% ส่วนที่สอง เข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางอ้อม การจ้างงานธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 4.04 แสนล้านบาท ลดลง 3.3% และจีดีพีรวม 1.31 แสนล้านบาท ลดลง 3.3% เช่นกันส่งผลให้การจัดอันดับความนิยมซึ่งเกิดจากความต้องการของนักท่องเที่ยวนานาประเทศที่พร้อมจะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ตลอดปี 2552 ตามที่ WTTC จัดไว้ มี 10 ประเทศ จากทั้งหมด 181 ประเทศ ไทย ติดอันดับ 121 อัตราการเติบโตติดลบ 4.4 % แซง สิงคโปร์ อันดับตกลงไปเป็น 151 การเติบโตติดลบมากที่สุดถึง 7.2%

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธาน คณะกรรมการ (บอร์ด) การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า มีนโยบายให้ ททท.และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งผลักดันคู่ขนานกัน 2 ทาง คือ

ทางที่ 1 การลงทุนสร้างจุดขายใหม่ไฮไลต์โปรเจ็กต์พัฒนาการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย (royal coast)

เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง บางส่วนที่สามารถเริ่มพัฒนาก็ทำทันที พร้อมกับทำรายละเอียดโปรเจ็กต์ทั้งหมดเสนอสำนักงบประมาณอนุมัติงบฯสนับสนุน

ทางที่ 2 กลยุทธ์ส่งเสริมตลาดการขายในและต่างประเทศ ซึ่งมีกิจกรรมรองรับตลอดทั้งปีมากถึง 2,000 กิจกรรม หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

มีมติอนุมัติกรอบวงเงินส่งเสริมตลาดเบิกจ่ายจากงบฯกลางปีและงบฯกลางรวม 2,000 ล้านบาท วิธีการจัดการเงินจะต้องวางแผนใช้อย่างคุ้มค่า

โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ

แยกกลุ่มให้ชัด 2 ประเภท ประเภทแรก ต้องทำซ้ำปีละหลายครั้งเนื่องจากผลตอบรับดี เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ตะวันออก กลาง สแกนดิเนเวีย ฮอลแลนด์

ประเภทสอง ทำบิ๊กแคมเปญทุ่มตลาดปีละครั้งเพื่อสร้างแรงจูงใจอย่างหนัก เนื่องจากเป็นประเทศในแถบที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงิน เช่น อังกฤษ เยอรมนี

ทั้งนี้ WTTC ได้สะท้อนตำแหน่ง ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย เปรียบเทียบกับภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก จาก 181 ประเทศ โดยชี้ให้เห็นดีมานด์การใช้จ่ายเงิน

รวมทั้งผู้กำกับนโยบาย ททท.เตรียมยุทธศาสตร์รองรับไว้แล้ว จะเหลือแต่ผู้ประกอบธุรกิจกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อเห็นขุมทรัพย์ที่โลกชี้ทางให้แล้วจะต้องร่วมมือเจาะให้สำเร็จ หน้า 22

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook