ทักษิณดิ้นสู้ยึดทรัพย์7.6หมื่นล.ขอแถลงเปิดคดีทางวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์

ทักษิณดิ้นสู้ยึดทรัพย์7.6หมื่นล.ขอแถลงเปิดคดีทางวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คมชัดลึก : ทักษิณ ดิ้นสู้ ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ร้องศาลฎีกานักการเมือง ขอแถลงเปิดคดีผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ ศาลนัดฟังคำสั่งอนุญาตหรือไม่ พรุ่งนี้ ( 27 มี.ค.) 4 โมงเย็นพร้อมกำหนดวันไต่สวน ส่วนบรรณพจน์ ร้องศาลคืนทรัพย์ตัวเองและภรรยา ด้านหญิงอ้อร้องศาล อสส.ไม่มีอำนาจร้องยึดทรัพย์ ศาลนัดฟังคำสั่ง 20 เม.ย.บ่ายสอง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันนี้ นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ 14 / 2551 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มา เนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อเริ่มการพิจารณาศาลศาลอธิบายว่า กระบวนการพิจารณานั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.35 วรรค 1 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระพิสูจน์ต่อศาล และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 26 กำหนดว่า ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาและคำคัดค้านของบุคคลภายนอกถ้าหากมีก่อน แล้วจึงไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นประการอื่น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน และจะพิจารณาพยานหลักฐานผู้ร้องและผู้คัดค้านก่อน ซึ่งฝ่าย อสส. ผู้ร้อง ได้ยื่นเอกสารหลักฐานจำนวน 46 แฟ้ม ส่วน พ.ต.ท. ทักษิณ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้ง 22 คน ยื่นหลักฐานจำนวน 52 แฟ้ม ศาลอธิบายต่อว่า คดีนี้นอกจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว มีผู้มีรายชื่อถือครองทรัพย์สินที่ อสส. ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินยื่นคำร้องในฐานะผู้คัดค้านอีก 22 คน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20, 25 และ 26 มีนาคม 2552 ผู้คัดค้านที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ) และผู้คัดค้านที่ 3, 7, 8, 19 และ 17 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในประเด็นอัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ยังได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 ขอให้ศาลส่งคืนทรัพย์สินเฉพาะในส่วนของ ผู้คัดค้านที่ 5 และ นางบุษบา ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 6 คืน ศาลจึงมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับให้ อสส. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 7 วัน หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน โดยศาลนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 20 เม.ย. นี้ เวลา 14.00 น. และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจสอบพยานหลักฐาน ภายใต้การดูแลของเลขานุการองค์คณะและเลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 มี.ค. และหากคู่ความประสงค์โต้แย้งเอกสารหลักฐานใดให้ยื่นคำร้องก่อน เวลา 14.00 น. สำหรับคำร้องที่ทนายความ พ.ต.ท. ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แถลงเปิดคดีโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) นั้นและคำร้องอื่นๆของผู้คัดค้านที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งในวันนี้ ศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 27 มี.ค. เวลา 16.00 น. ภายหลังนายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้คัดค้าน กล่าวว่า เป็นความประสงค์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่ต้องการแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ข้อ 20 ที่ระบุว่า เมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอ และองค์คณะผู้พิพากษาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม องค์คณะผู้พิพากษาอาจอนุญาตให้ทำการไต่สวนพยานบุคคลที่อยู่นอกศาล โดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) ได้ โดยให้ผู้ขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีการไต่สวน โดยระบบดังกล่าวและเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล หากศาลอนุญาตให้ พ.ต.ท. ทักษิณ แถลงเปิดคดีผ่านทาง VIDEO CONFERENCE ได้ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็พร้อมที่จะแถลงเปิดคดีตามวันที่ศาลกำหนดทันที ส่วนจะแถลงมาจากที่ใดนั้นผมยังไม่ทราบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook