เปิดแผนตากสินถึงยุทธศาสตร์เพื่อไทยต่างวิธีการ แต่เป้าหมายเดียวกัน สู้กับมือที่มองไม่เห็น?

เปิดแผนตากสินถึงยุทธศาสตร์เพื่อไทยต่างวิธีการ แต่เป้าหมายเดียวกัน สู้กับมือที่มองไม่เห็น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หมายเหตุมติชนออนไลน์- เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มคนเสื้อแดง วางแผนต่อสู้กับกองทัพและโค่นล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการปลุกมระดมกลุ่มคนต่างๆให้เกิดการประท้วงและก่อจลาจลเรียกกันว่า แผนตากสิน

แต่กระแสข่าวดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากทั้งแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทยโดยอ้างว่า เป็นการเขียนแผนของฝ่ายรัฐบาลเพื่อป้ายสีกลุ่มคนเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียอมรับว่า ได้อ่านเอกสารที่อ้างว่า เป็น แผนตากสิน แล้ว แต่ไม่ทราบที่มาที่ไปของเอกสารดังกล่าว

เพื่อต้องการให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย มิได้เกี่ยวข้องกับ แผนตากสิน พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย จึงเผยแพร่เอกสารที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์เพื่อไทย..ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว โดยระบุว่า แกนนำพรรคมีการกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้พรรคเพื่อไมยชะการเลือกตั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเนื้อหาใน แผนตากสิน และ ยุทธศาสตร์เพื่อไทย แล้ว แม้จะมีวิธีการที่ต่างกันกล่าวคือ แผนตากสิน เน้นการปลุกระดมมวลชนเพื่อให้เกิดการประท้วง จนถึงขั้นก่อจลาจล

ขณะที่ยุทธศาสตร์เพื่อไทย เน้นการรณรงค์ให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

แต่เป้าหมายในการต่อสู้เป็นกลุ่มเดียวกัน คือ มือที่มองไม่เห็น กองทัพ อำนาจศาล

ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์เพื่อไทยเน้นการเชิดชูเกียรติในความกล้าหาญ ความอดทน และเสียสละของ พระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งช่างบังเอิญเป็นอย่างมากที่สอดคล้องกับชื่อ แผนตากสิน

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของ แผนตากสิน ที่เปรียบเทียบกับ ยุทธศาสตร์เพื่อไทย..ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว ที่ผู้อ่านพิจารณาได้ว่า มีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร

*************************************

แผนตากสิน

End State(เป้าหมาย)

1. ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เฉกเช่นเดียวกับนานาอารยประทศ

2. กองทัพยุติบทบาทแทรกแซง หรือก้าวก่ายการเมือง

3. ยกเลิกมาตราของรัฐธรรมนูญ ในเรื่ององคมนตรี

4. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และดำรงสถานะเฉกเช่นเกี่ยวกับนานาอารยประเทศ

5. ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม เว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการก่อการร้าย (Anti-terrorism Law) ซึ่งเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ

6. ปฏิรูปการเมืองให้มีการกระจายอำนาจสู่ชนบทเพิ่มมากขึ้น

7. ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญที่มีแนวทางเดียวกับฉบับปี 2540 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ผ่านมา

Means (เครื่องมือ)

1. ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ของพรรค ทรท., พปช., ชท. และ มช. 2. พรรคเพื่อไทย 3. ส.ส. และ ส.ว. ที่มีความคิดในแนวทางเดียวกัน 4. องค์กรประชาธิปไตยต่างๆ 5. นักวิชาการ สื่อมวลชน

6. นักการทูตต่างๆ 7. องค์กรในกระบวนการยุติธรรม 8. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร 9. ผู้นำมวลชนในทุกระดับ

Ways (วิธีการ)

1. ความสำเร็จของแผนเกิดจากความเพลี่ยงพล้ำของกองทั พ โดยเกิดการลุแก่อำนาจโดยเอากำลังพลและยุทโธปกรณ์ออกมากระทำการรัฐประหาร และ/หรือมีการปราบปรามกวาดล้างมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ซึ่งฝ่ายเราจะผนึกกำลังเข้าต่อสู้ทุกรูปแบบ ร่วมกับประชาคมโลกที่ประณามการกระทำของกองทัพ และออกมาตรการกดต้นในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะต่อสถาบันที่มีบทบาทในการรับรองสถานภาพให้แก่คณะรัฐประหาร จนผู้ก่อการรัฐประหารดังกล่าวเป็นกบฏโดยถูกดำเนินคดี และถูกกวาดล้างในที่สุด

2. ภารกิจย่อย เพื่อสนับสนุนความสำเร็จของแผน อันประกอบด้วย

2.1 สงครามชนชั้นกรรมาชีพ/รากหญ้า

2.1.1 ดำเนินการโดยกลุ่มเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน โดยมีนักการเมืองท้องถิ่นให้การสนับสนุนและชี้นำ

2.1.2 ยื่นข้อเสนอ กดดันรัฐบาล ให้ต้องรีบตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเสนอภาพการเพิกเฉยต่อชนชั้นรากหญ้า โดยรัฐบาลศักดินา/อำมาตยาธิปไตยให้ความเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาต่อชนชั้นกลาง และนักธุรกิจเหมือนกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งมีเศรษฐีล้มบนฟูก ขณะที่ประชาชนยากจนลง และต้องมาร่วมแบกรับภาระปัญหาของนายทุน/ขุนศึก

2.1.3 ขยายผลการก่อการจลาจล ประท้วง ปิดกั้นการคมนาคมทั่วพื้นที่เขตอิทธิพลของฝ่ายเราเมื่อชนบทเข้มแข็งให้ยกระดับการต่อสู้เข้าสู่เมือง และเมืองใหญ่ตามลำดับต่อไป

2.2 สงครามประชาธิปไตย

2.2.1 ดำเนินการโดยชนชั้นกลาง และผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

2.2.2 รณรงค์ ชี้นำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นผลผลิตของคณะรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ซึ่งไม่ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย และต้องการรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตย

2.2.3 ชี้นำ และอธิบายให้เห็นกระบวนการที่บ่อนทำลายนักการเมือง เพื่อให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และนำไปสู่การปฏิรูปในรูปแบบ การเมืองใหม่ จากการแต่งตั้งและสรรหา

2.3 สงครามปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

2.3.1 ดำเนินการโดยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งผู้ที่รักความยุติธรรมทั่วไป

2.3.2 รณรงค์ชี้นำให้เห็นว่า มีอำนาจการก้าวก่ายอำนาจการเมือง และนิติบัญญัติโดยการสั่งจำคุก กกต. และยุบพรรค ทรท. ที่เห็นได้ชัดเจน คือกรณีการรีบเร่งยุบพรรค พปช., ชท. และ มช. เพื่อหวังผลทางการเมือง

2.3.3 จัดกระบวนการเสวนาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และลดอายุราชการของผู้พิพากษาจาก 70 ปี เหลือไม่เกิน 60-65 ปี รวมทั้งต้องมีระบบการตรวจกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส

2.4 สงครามข่าวสาร

2.4.1 ดำเนินการโดยนักสื่อสารมวลชน นักสารสนเทศรวมทั้งประชาชนที่รักเสรีภาพทั่วไป

2.4.2 กระจายข่าวสารในรูปของสื่อต่างๆ ทั้งเปิดเผยและปกปิด

2.4.3 กลยุทธ ต้องมีการวางแผน และจัดทำข่าวสารอย่างเป็นระบบ เพื่อมุ่งหวังผลต่อมวลชนโดยตรง

2.4.4 ต้องมีการต่อต้านข่าวกรอง การลวง และการปกปิดเจตนารมณ์การปฏิบัติของฝ่ายเราในทุกระดับ

2.4.5 ปล่อยข่าวลือ และข่าวลง เพื่อหวังผลทางยุทธศาสตร์ เพื่อกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหายลดความน่าเชื่อถือ หรือวางแผนผิดพลาดในการปฏิบัติต่อฝ่ายเรา

2.4.6 ใช้สื่อมวลชนต่างชาติกดดัน ปิดล้อมประเทศไทย โดยกดดันต่อสื่อมวลชนฝ่ายไทย เพื่อให้ประชาชนลดความเชื่อถือ และคิดว่า ระบอบอำนมาตยาธิปไตยครอบงำสื่อ เพื่อปฏิบัติการจิตวิทยา (propaganda) โดยแสดงให้เห็นว่าศักดินา/อำมาตย์ไม่มีความจริงใจต่อประชาชนไทย ในขณะที่ข้าราชการ ขุนนางและอำมาตย์ กลับเสวยสุขภายใต้ความยากจนลงทุกวันของรากหญ้า

2.4.7 สร้างระบบการสื่อสารข้อมูลให้สามารถกระจายข่าวสารได้ต่อเนื่องตลอดเวลา

2.4.8 ข่าวลือที่สำคัญ , คุกมีไว้ขังคนจน, การฉ้อราษฎร์บังหลวงของเผด็จการทหาร, การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ประสาน US ในการล้มโครงการฯ และการทุจริตของผู้นำทหาร, เปิดเผยกระบวนการเกณฑ์ทหาร ซึ่งคนจนต้องเป็นทหารเกณฑ์ (การกดขี่ชนชั้น)

2.5 สงครามการเมือง

2.5.1 ดำเนินการโดยมวลชนที่มีการจัดตั้งฝ่ายเรา

2.5.2 ใช้การปฏิบัติเช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 โดยการก่อการจลาจล ชุมนุม กดดัน ประท้วง เฉกเช่นเดียวกับ พธม.

2.5.3 กดดันและกระทำต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรค ปชป./นรม. โดยใช้ยุทธวิธี ดิบถ่อย เถื่อน เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่า บุคคลนี้ ปล้นประชาธิปไตยมา โดยร่วมมือกับกลุ่มโจรก่อการร้ายปิดล้อมและยึดสนามบินทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล

2.5.4 เริ่มแรก โดยการนัดชุมนุม มีการเคลื่อนไหวของมวลชนในพื้นที่ต่างๆ ไม่จำกัดว่าต้องเป็น กทม.เท่านั้น จากนั้นยกระดับความรุนแรง กดดันต่ออำนาจรัฐ โดยเฉพาะการยั่วยุทหารให้กระทำการลุแก่อำนาจ

2.5.5 ขั้นตอนการแบ่งแยกพลังอำนาจทางทหาร ต้องชี้นำให้ประชาชนเห็นว่าการปกครองบังคับบัญชาทหารไม่มีความยุติธรรมในกองทัพ โดยผู้ที่เกาะชายกระโปรงแต่ไร้ซึ่งฝีมือกลับได้รับการสนับสนุนเลื่อนยศและตำแหน่ง จนมีการข้ามหัวรุ่นพี่ และเหยียบรุ่นน้องอย่างที่เห็นไปทั่ว คำว่าภักดีนั้น ภักดีต่อผู้ที่ให้ประโยชน์เท่านั้น ขณะเดียวกันคิดเป็นปฏิปักษ์ในทางลับ ต่อองค์รัชทายาท

2.5.6 ดำเนินการเปิดเผยขบวนการนอกรัฐธรรมนูญ ที่กระทำการปล้นอำนาจ และกดขี่เหยียบหัวประชาชน โดยเฉพาะรากหญ้า เสมือนเป็นไพร่ทาส

2.5.7 ทบทวนการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ และสถาบันตลอดห้วงเวลา 76 ปีที่ผ่านมา

2.5.8 ยกระดับความรุนแรง จนกระทั่งอำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ฯ

2.5.9 การปฏิบัติของมวลชน Hardcorจะต้องปกปิดหน้าตา เพื่อผลทางคดีในภายหลัง

2.5.10 การปิดล้อม ชุมนุมประท้วงตามสถานที่ราชการต่างๆ

2.5.11 ให้ชุดทำงานด้านสงครามข่าวสาร ชี้แจงว่า ทหารจะสร้างสถานการณ์แบบ 6 ต.ค.19 โยนความผิดให้ฝ่ายเรา ประเด็นนี้จะเป็นแรงกดดันให้ทหารต้องกระทำในสิ่งที่พยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งกองทัพจะพ่ายแพ้ย่อยยับในสงครามนี้ แ ซึ่งเป็นผลดีต่อการปฏิวัติประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้ทัดเทียมอารยประเทศต่อไป

************************************

ยุทธศาสตร์ เพื่อไทย...ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว

1.หลักการและเหตุผล

1.1 ระบอบประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดกว่า 77 ปี เพราะรากฐานวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีการแทรกแซง โดยองค์กรนอกสภาพลังอำนาจฝ่ายต่างๆ อย่างไรก็ดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมีส่วนกดดันให้ประชาชนมีความตื่นตัว และความคาดหวังต่อระบบการเมืองและการปฏิรูปการเมืองมากขึ้น จึงนำไปสู่การประกาศใช้และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ของบ้านเมือง และกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

จนกระทั่งปัจจุบันได้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่มีเจตนารมณ์ และเป้าหมายในการเพื่อดำเนินการพัฒนาระบบการเมืองไทยใหม่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองของประเทศซึ่งในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศขึ้นมากมายกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

1.2 การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Participation) อันเป็นอำนาจที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง สามารถเรียกร้องหรือสนับสนุนให้มีการกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมืองหรือการตัดสินในนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยประชาชนทั่วไปเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ นโยบาย และวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับตนด้วยความคาดหวังว่า ผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนเลือกให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนเองนั้นจะนำอุดมการณ์ และนโยบายไปใช้ในการบริหารประเทศ และทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของตน การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะแสวงหาทางเลือกในทางการเมืองการปกครองของประชาชนต่อการเลือกผู้แทน หรือพรรคการเมืองของประเทศในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

1.3 พรรคเพื่อไทย ต้องชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปและสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวแบบเบ็ดเสร็จ สมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจร่วมมือร่วมใจกันผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันฝ่าฟันอุปสรรคพลังอำนาจมืดต่างๆ เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี และชื่อเสียงกับคืนมาอย่างชอบธรรมแล้วนำทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นไปตามนโยบายวิสัยทัศน์ของพรรคเพื่อไทย เพื่อไทย...เพื่ออนาคตประเทศไทย

การต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการใช้กำลังและอาวุธเป็นการต่อสู้ทางยุทธวิธี ซึ่งไม่อาจจะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเด็ดขาดถาวรและเพื่อการเอาชนะวิกฤตทางการเมืองไทยในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเป็นแนวทางและทิศทางชัดเจนให้กับสมาชิกพรรค และผู้ให้การสนับสนุนรวมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในการดำเนินงานด้านการเมืองระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลร่วมกับพรรคเพื่อไทย อย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป (แฟนพันธุ์แท้)

1.4 คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน ตามองดาว เท้าติดดิน นโยบาย และสโลแกนเหล่านี้เป็นนโยบาย ประชานิยมที่ยังติดตาตรึงใจ และชื่นชอบถูกอกถูกใจคนไทยอยู่ทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันได้มีกลุ่มการเมืองและกลุ่มผู้ไม่หวังดีร่วมกับฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะฉกฉวยโอกาสและสมอ้าง การมีอำนาจอันชอบธรรมในการบริหารประเทศสร้างความนิยมและเอาใจประชาชนโดยการนำเอานโยบายและแนวความคิดเดิมของพรรคไทยรักไทยมาเป็นจุดขาย เพื่อหวังผลการดึงมวลชนให้มาสนับสนุนทางการเมืองต่อพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเป็นรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษอีกต่อไป

1.5 ความเจ็บปวด...ทุกข์ใจ...เศร้าใจ...เสียใจ ที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนในอดีต สมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกคนจะต้องจดจำความรู้สึกแบบนั้นไว้เป็นบทเรียนและสิ่งเตือนในอยู่เสมอทุกคนจะต้องตั้งสติมีสมาธิให้ความร่วมมือร่วมใจพร้อมที่จะระดมความคิดและปัญญา ในการต่อสู้กับพลังอำนาจมืดต่างๆ มือที่มองไมีเห็น กองทัพ และอำนาจศาลที่ไม่ยุติธรรม อย่างมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มียุทธศาสตร์เป้าหมายเดียวกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันเกิดมาพร้อมกับตัวเรา

แต่จะไม่ตายไปพร้อมกับเรา สัจธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรแน่นอนมีตั้งอยู่แล้วก็มีดับไ ป ทางการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ทุกอย่างมีทางแก้ไขได้แต่ต้องใช้สติปัญญาที่ชาญฉลาดมีข้อมูลข่าวสารที่ดี มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม มีศิลปะ และมีจังหวะเวลาที่ถูกต้อง (มืออาชีพ)

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อไทย...ร้อยใจ เป็นหนึ่งเดียว ตามนโยบาย และวิสัยทัศน์พรรคเพื่อไทย เพื่อไทย...เพื่ออนาคตประเทศไทย จำนวน 4 โครงการหลัก ได้แก่

1) โครงการ ช่วยพรรคเพื่อไทยต่อสู้วิกฤต

2) โครงการ เพื่อไทยกับการเมืองไทยยุคใหม่

3) โครงการ เพื่อไทยห่วงใยประชาชน

4) โครงการ เหรียญที่ระลึกเชิดชูเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

2.วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิผล สามารถแสดงความคิดเห็น แสดงพลังต่างๆ ทางการเมืองของประชาชนต่อสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.2 เพื่อนำนโยบายที่สำคัญๆ ของพรรคเพื่อไทย สร้างความเชื่อมั่นเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ในการเตรียมตัวที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งและให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างยั่งยืนมั่นคงถาวรตลอดไป

2.3 เพื่อพบปะชี้แจงประชาชนให้รับรู้เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางการเมืองไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติรัฐประหาร จนเกิดการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

2.4 เพื่อเป็นแนวทางและทิศทางอย่างชัดเจน ให้แก่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ผู้ให้การสนับสนุนมีความศรัทธาและมั่นใจ ต่อการทำงานทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยต่อไป

2.5 เพื่อความรักความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ต่อต้านระบบเผด็จการกลุ่มการเมืองนอกสภา มือที่มองไม่เห็น กองทัพและอำนาจศาลที่ไม่ยุติธรรม เพื่อไทย...ร้อยใจ เป็นหนึ่งเดียว

2.6 เพื่อสร้างปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้แก่ประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำทางการเมือง และผู้ให้การสนับสนุนที่มีความจงรักภักดี ศรัทธาต่อพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนในอดีตให้มาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

2.7 เพื่อเชิดชูเกียรติในความกล้าหาญ ความอดทนและเสียสละของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงมีพระคุณยิ่งต่อประเทศชาติบ้านเมือง ที่ได้ขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร และรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชบ้านเมืองได้ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและต้นกรุงธนบุรี

3.การดำเนินการ

3.1 ทุกภาคและทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเน้นและให้ความเร่งด่วนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับแรก ภาคกลางเป็นอันดับรอง และภาคใต้เป็นอันดับสุดท้าย (หากปฏิบัติพร้อมกันได้ทุกพื้นที่ก็สามารถดำเนินการได้)

3.2 การแบ่งมอบพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อการอำนวยการ และบริหารจัดการพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการดำเนินงานตามโครงการตลอดการประสานกับผู้นำการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และผู้ที่ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ ออกเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ทดลองและพื้นที่ตามกำหนดไว้ ให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยรับผิดชอบเป็นภาพรวมของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

3.2.1 พื้นที่ภาคเหนือ (ตอนบน) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย

3.2.2 พื้นที่ภาคเหนือ (ตอนล่าง) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก

3.2.3 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานตอนบน) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี

3.2.4 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานตอนล่าง) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา

3.2.5 พื้นที่ภาคตะวันออก โดยสมาชกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา

3.2.6 พื้นที่ภาคตะวันตก โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี

3.2.7 พื้นที่ภาคกลาง โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรี

3.2.8 พื้นที่ภาคใต้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา

3.2.9 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เขต 5 และเขต 7 กรุงเทพมหานคร

3.3 ให้มีการประสานระหว่างสมาชิกพรรคเพื่อไทยและผู้ให้การสนับสนุน ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งการเข้ามามีส่วนร่วมของโครงการฯ ในทุกโอกาส

4.การปฏิบัติแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

4.1 ขั้นเตรียมการ

4.1.1 การเตรียมสรุปเนื้อหา เอกสาร และข้อมูลต่างๆ ในการฝึกอบรมของโครงการฯ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมและเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้ความเข้าใจเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

4.1.2 การกำหนดพื้นที่และผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและเอกภาพ โดยการปฏิบัติงานตามโครงการเพื่อเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต่อเนื่องตลอดจนการจัดทำแผนงานตามโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

4.1.3 การจัดเตรียมผู้เข้าร่วมโครงการและความพร้อมในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกอบรมให้กับผู้เข้ารับการอบรมและชุดวิทยากร รวมทั้งให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ควบคุมและประสานงานโครงการ ยุทธศาสตร์เพื่อไทย...ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป็นสถานที่ทำงานและศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

4.2 ขั้นปฏิบัติ แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 ห้วงระยะเวลา ดังนี้

4.2.1 การเสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับผู้นำ/ผู้ให้การสนับสนุนและประชาชนในพื้นที่ โดยการจัดการฝึกอบรมในแต่ละพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ 3 ในโครงการหลัก

4.2.2 การจัดตั้งเครือข่าย และการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคเพื่อไทยรวมทั้งผลงานในอดีตของพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน

4.2.3 การจัดกิจกรรมเพื่อ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึก สร้างค่านิยมปรับทัศนคติที่ถูกต้องและการปลูกฝัง

อุดมการณ์รักชาติ/ความจงรักภักดีให้แก่ประชาชนในทุกภาค ทุกพื้นที่ของประเทศไทย

4.2.4 การติดตาม/การประเมินผล/แก้ไข/เพิ่มเติม

4.2.4.1 ประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการฯ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อดี-ข้อเสีย เพื่อส่งมอบความรับผิดชอบให้แก่สมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย และสมาชิกของพรรคในแต่ละพื้นที่ดำเนินกิจกรรมต่อไป

4.2.4.2 ให้ ศูนย์ควบคุม และประสานงานโครงการ ยุทธศาสตร์ เพื่อไทย...ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว ดำรงความต่อเนื่องในการ ติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไขและเพิ่มเติมให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

4.2.4.3 จัดชุดประเมินผลฯ ตามข้อ 4.2.4.2 เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องภายหลังจากส่งมอบพื้นที่แล้ว

5.การสนับสนุนงบประมาณ

6.เป้าหมาย/ผลที่คาดว่าจะได้รับ

6.1 ประชาชน ผู้นำการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้ให้การสนับบสนุนพรรคเพื่อไทย ในแต่ละภาค/พื้นที่ของประเทศไทยมีความจงรักภักดีต่อพรรคเพื่อไทยและเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง

6.2 ค้นหาและพัฒนาคุณลักษณะผู้นำของพรรคเพื่อไทยทุกระดับให้มีศักยภาพเพื่อเป็นแกนนำรับผิดชอบการดำเนินการงานด้านการเมืองในแต่ละพื้นที่ อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในอนาคตต่อไป

6.3 ผู้บริหาร/ผู้นำพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้พบปะประชาชนและผู้ให้การสนับสนุนสร้างเพื่อความคุ้นเคยใกล้ชิดและแสดงวิสัยทัศน์นำเสนอนโยบายที่สำคัญๆ ของพรรคเพื่อไทยต่อประชาชนตลอดจนสรุปชี้แจงประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในทางการเมืองได้โดยตรง

6.4 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องการพูดในที่ชุมชน และการพบปะประชาชนเพื่อเป็นที่ประทับใจ และเชื่อมั่นในตัวผู้แทนราษฎรของตนเอง

6.5 พรรคเพื่อไทยจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเข้มแข็งและมั่นคง ได้รับความนิยมศรัทธาจากประชาชนทุกหมู่เหล่ามากที่สุดพรรคหนึ่งของพรรคเพื่อไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืนถาวรตลอดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook