อปท.-รสก.-ครูเอกชนเฮ! ครม.ใจดีแจกเช็ค2พัน เล็งออกพ.ร.ก.ขยายเพดานก่อหนี้ใช้ชั่วคราว

อปท.-รสก.-ครูเอกชนเฮ! ครม.ใจดีแจกเช็ค2พัน เล็งออกพ.ร.ก.ขยายเพดานก่อหนี้ใช้ชั่วคราว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รบ.เตรียมออกพ.ร.ก.ขยายเพดานก่อหนี้ ใช้ชั่วคราวแค่ 2-3 ปีแล้วยกเลิก คาดขอกู้เพิ่มจาก กม.กำหนดได้ไม่เกินปีละ 2 แสนล้านรับมือวิกฤตโลก ครม.ไฟเขียวอีก 5 แสนคนได้เช็คช่วยชาติ ทั้งอปท.-รสก.-ครูเอกชน เร่งให้แจก 26 มี.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเรียกประชุมทีมเศรษฐกิจที่บ้านพิษณุโลก และการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ว่า รัฐบาลมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจตามกรอบ 2-3 ปี คือปี 2552-2554 ใช้วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท หลังจากดำเนินการในรอบแรกและกำลังจะเจรจากู้เงินจากต่างประเทศเพื่อลงทุนในลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเงินลงทุนในภาวะที่การลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกยังมีปัญหา สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบกับประเทศเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราต้องเร่งพิจารณากรอบใช้เงิน 2-3 ปี นายกฯ กล่าว (อ่านรายละเอียด น.17)

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการเตรียมงบประมาณ 400 ล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทยว่า ยังไม่เคยเห็นงบส่วนนี้ แต่เคยมีงบเพิ่มเติม สำหรับการดำเนินการร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม โดยไม่มีอะไรใหม่ ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเชิญสื่อมวลชนระดับโลกมาประเทศไทยเพื่อช่วยกู้ภาพลักษณ์ประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าววว่า มีคณะกรรมการชุดนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนันายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่ แต่เราจะพยายามดูในลักษณะของการดึงนักลงทุน นักธุรกิจที่เดินทางอยู่แล้วมาทางนี้ก่อน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน เพื่อขยายเพดานการก่อหนี้ในประเทศ จากเดิมกำหนดให้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 20% ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี และกรอบเงินกู้ต่างประเทศไม่เกิน 10% วงเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อรองรับความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มขึ้นตามความต้องการของเศรษฐกิจ ส่วนจะเป็นเท่าไรนั้นเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจ หากสรุปวงเงินได้ก็สามารถใส่ลงในพระราชกำหนดได้ทันที

ตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2552 มีการตั้งงบขาดดุลไว้ 3.5 แสนล้านบาท และจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 5 แสนล้านบาท ซึ่งเต็มเพดานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คือ 20% ของงบประมาณรายจ่าย และคิดเป็น 6% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) แต่ถ้าหากคำนวณแล้วว่าว่า ในระยะต่อต้องกู้มากกว่า 6% ของจีดีพี เช่น กู 8% ของจีดีพีเหมือนญี่ปุ่น หรือเท่ากับกู้เพิ่มอีก 2% ของจีดีพีที่เท่ากับ 9-10 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ก็เท่ากับเราควรกู้เพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท จากการขาดดุลปกติ 5 แสนล้านบาท เราก็จะเขียนไว้ในพรก. ว่า ให้อำนาจรัฐบาลกู้เพิ่มจากที่กฎหมายหนี้กำหนดไว้ได้ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท เป็นต้น นายพงษ์ภาณุกล่าว

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า พรก.ดังกล่าวจะมีอายุชั่วคราวเพียง 2-3 ปีเท่านั้น โดยจะต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ 1.ตัวอย่างประเทศอื่นที่มีการก่อหนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศมีการก่อหนี้ในสัดส่วนที่สูง เช่นญี่ปุ่น กู้ชดเชยงบประมาณ 7-8% ของจีดีพี สหรัฐ 8.5% ของจีดีพี ส่วนไทยล่าสุดอยู่ที่ 6% ของจีดีพี 2.ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีกับเศรษฐกิจไทย และ3. ภาระในการชำระหนี้ในอนาคต เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง และป้องกันหนี้กระจุกตัว อย่างไรก็ตาม ในอดีต รัฐบาลเคยขยายเพดานก่อหนี้มาแล้วช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีการกู้เพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง กำหนดขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกิน 2.5% ของจีดีพี สัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15%

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า การขยายกรอบการกู้เงินจะมี 2 แนวทางให้นายกฯเลือก คือกู้ในประเทศเพื่ออุดช่องโหว่รายได้จากที่จัดเก็บภาษีพลาดเป้า จากที่เดิมคาดว่าจะพลาดเป้า 1 แสนล้านบาท แต่มีแนวโน้มว่าจะพลาดเป้าถึง 2 แสนล้านบาท ทำให้เพดานกู้เงินตามกฎหมายไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย คิดเป็น 4.3 แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอ และแนวทางที่สอง การขยายกรอบการกู้เงินต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท แต่กู้ไปแล้วเหลือ 8 หมื่นล้านบาท หากจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะสามารถกู้เงินเพิ่มเติมในส่วนนี้โดยขยายกรอบเพดานการกู้เงินออกไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมอนุมัติเพิ่มกลุ่มเป้าหมายผู้มีสิทธิได้รับเช็คจำนวนเงิน 2,000 บาท ในโครงการเช็คช่วยชาติ เพิ่มอีก 6 กลุ่ม คือ 1.บุคคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 199,338 คน 2.พนักงานรัฐวิสาหกิจ 47,135 คน 3.บุคคลากรในหน่วยงานรูปแบบพิเศษ (องค์กรมหาชน) 1,282 คน 4. ทหารเกณฑ์ ของกลาโหม 154,200 คน 5. กลุ่มครู บุคลากรด้านการศึกษาและอื่น ๆ ในโรงเรียนเอกชน 132,604 คน รวม 534,559 คน ส่วนกลุ่มที่ 6.บุคลากรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล รวมแล้วผู้มีสิทธิได้รับเช็คช่วยชาติเกือบ 10 ล้านคน จากเดิม 9 ล้านคนเศษ โดยกลุ่มหลังนี้จะพยายามออกเช็คให้ได้ภายในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ต้องใช้งบเพิ่ม 1,069,118,000 บาท จากงบเพิ่มเติมที่ยังเหลืออยู่

วันเดียวกัน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นประธานกดปุ่มโอนงบประมาณให้กับสถานศึกษาในโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่โรงเรียนศรีอยุธยา กทม. ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ เวลา 10.00 น. จากนั้นคาดว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จะได้รับงบฯ อย่างช้าไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยในกทม. นัดโอนงบฯให้กับโรงเรียนวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นโรงเรียนต้องมอบเงินให้กับนักเรียน/ผู้ปกครองเพื่อไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่อไป

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่ศธ.เสนอให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัฒนธรรม ที่อยู่ในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติของศธ.

วันเดียวกัน นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจในเดือนมกราคม 2552 ว่า มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 880,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.4% เพิ่มขึ้น 0.7% หรือ 250,000 คนเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน 150,000 คน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 730,000 คน โดยกลุ่มหลังนี้เป็นผู้ว่างงานนอกภาคเกษตรกรรม 530,000 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจำนวนผู้มีงานทำในเดือนมกราคม 2552 พบว่า เพิ่มขึ้น 280,000 คน หรือ 0.8% โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 270,000 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook