ทำไมต้องมี ''นโยบายพลังงานแห่งชาติ''

ทำไมต้องมี ''นโยบายพลังงานแห่งชาติ''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย มีนักธุรกิจและนักวิเคราะห์ไทยส่วนใหญ่มองว่าคลื่นผลกระทบที่จะเข้ามาถึงประเทศระดับขั้นรุนแรงและตกต่ำสุดนั้น บางคนเชื่อว่า เป็นช่วงครึ่งปีหลัง 2552 ขณะที่บางคนคาดว่าจะเป็นครึ่งปีหลัง 2553 แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไง สิ่งที่เห็นเกิดขึ้นขณะนี้และชัดเจนที่สุด คือภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ต่างชะลอการลงทุน และดึงการผลิตเข้าสู่ภาวะหดตัว

แต่การหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้แม้จะทำให้การบริโภคพลังงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆมีความต้องการใช้พลังงานลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ซัพพลายและดีมานด์ด้านพลังงานของประเทศที่เคยมีปัญหาขาดแคลน ลดความเสี่ยงลงไปด้วย

ปัญหาประเทศไทย ขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจีจนถึงขั้นวิกฤติ ในช่วงปี 2551 ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะหากย้อนกลับไปดูซัพพลายและดีมานด์การใช้พลังงานในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณพลังงานขยายตัวไม่ทันการเติบโต เมื่อไทยไม่มีแหล่งพลังงานของตัวเองในปริมาณที่มากพอ โดยเฉพาะน้ำมันที่ต้องนำเข้า เมื่อเจอภาวะราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลก จึงทำให้เกิดความผันผวน ไร้เสถียรภาพ และนำประเทศไปสู่ความเสี่ยงจนเกิดปัญหาวิกฤติพลังงานและเคยเกิดขึ้นภายครั้งมาอย่างต่อเนื่อง

จนกลายเป็นภาวะเสี่ยงที่รัฐบาลไทยในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาแม้จะมีการวางนโยบายในการจัดหาและพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศรองรับการขยายตัว ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการ ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมัน และพึ่งพาพลังงานในประเทศมากขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และอื่นๆ แต่แนวทางการดำเนินงานยังขาดความต่อเนื่อง

รัฐบาลชุดล่าสุดภายใต้การบริหารของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายด้านพลังงานต่อรัฐสภาไปเมื่อ 30 ธันวาคม 2551 ได้กำหนดให้การพัฒนาพลังงานของไทยสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ด้วยการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ มีเสถียรภาพ เร่งสำรวจและพัฒนาแหล่งพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐบาลเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงาน วางแผนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดหา ความผันผวนทางด้านราคา และลดต้นทุนการผลิต ตลอดทั้งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพ และศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังดำเนินการให้ นโยบายด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดภาวะมลพิษ และเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร และสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งให้มากขึ้น โดยขยายระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาพลังงานทดแทนทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

พร้อมทั้งให้มีการกำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ และเป็นธรรมต่อประชาชน โดยกำหนดโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม และเอื้อต่อการพัฒนาพืชพลังงาน รวมทั้งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด และบริหารจัดการผ่านกลไกตลาดและกองทุนน้ำมัน เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด เกิดการแข่งขัน และการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

และส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดโครงการกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะบริษัท พลังงานแห่งชาติฯ ยังต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศอย่างเร่งด่วนภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นตามนโยบายข้างต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook