ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร มีเงิน''รองรัง'' พร้อมรับวัย''เกษียณ''

ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร มีเงิน''รองรัง'' พร้อมรับวัย''เกษียณ''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เริ่มออมเงินตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงานใหม่ ๆ พออายุ 40 ปี ก็ให้ความสำคัญมากขึ้น ตอนนี้อายุ 53 ปี กล้าบอกได้ว่ามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว โดยมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณประมาณ 70% ของเงินเดือน

ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร ทิ้งอาชีพนักเศรษฐศาสตร์มาเกือบ 8 ปีแล้ว ปัจจุบันนั่งบนกองเงินกองทอง 3.9 แสนล้านบาท ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และวางแผน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ดังนั้นกองเงินกองทองที่ว่า คือ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของกบข.นั่นเอง !

ก่อนหน้านี้เธอเคยอยู่ดอยช์แบงก์ ในตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ,สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ และช่วงปี 2540-2544 ยังรั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี(นายชวน หลีกภัย )

ปัจจุบันดร.อาภรณ์ อายุ 53 ปี ครองชีวิตโสด แน่นอนการพูดคุยกับเธอครั้งนี้ มีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว คือ การออมพร้อมรับวัยเกษียณ ที่ไล่หลังเจ้าตัวมาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ดร.อาภรณ์ บอกว่าตอนนี้เธอพร้อมก้าวสู่วัยเกษียณอย่างเต็มใจ เนื่องจากมีเงินออมรองรับไว้สำหรับการดำรงชีพเหลือเฟือ จนกล้าบอกได้ว่าตอนนี้มีอิสรภาพทางการเงินแล้ว โดยมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายยามเกษียณประมาณ 70% ของเงินเดือน

ออมเงินตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆแต่ก็ยอมรับว่าไม่ได้ตั้งใจออมอย่างจริงจังนัก ส่วนมากก็ยังใส่ใจกับเวลาหลังเลิกงานมากกว่า ว่าจะไปเที่ยวไหนกันดี ก็เป็นไปตามประสาของคนวัย 22-23 ปี พออายุ 40 ปี ก็ป่วย จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการออมอย่างจริงจัง แต่ส่วนตัวก็ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้มีภาระครอบครัว

พร้อมพูดติดตลกว่า ไม่ได้บอกว่าหลังเกษียณจะมีอายุยืนยาวอีกเท่าไหร่ บอกได้แต่ว่าโดยเฉลี่ยแล้วหลังวัยเกษียณคนเราจะมีอายุยืนยาวอีกประมาณ 30 ปี ซึ่งหากชีวิตเราอยู่สั้นกว่านั้น เงินออมส่วนที่เหลือก็กลายเป็นมรดกให้ลูกหลานไป

ดร.อาภรณ์ เปิดแผนการออม การลงทุนส่วนตัวว่า เริ่มจากการตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนเลยว่าจะเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งหากสะสมได้ตามเป้าหมายแล้วและทำได้ก่อนวัยเกษียนจริงๆนั่นหมายความว่าเรามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว ทำให้สามารถเลือกทำอะไรก็ได้ตามความพอใจ แม้แต่การตัดสินใจเรื่องการทำงาน

ในทางกลับกันหากยังไม่สามารถเก็บออมได้ตามเป้าหมาย ก็ต้องยอมทำงานต่อไปแม้จะเป็นงานที่ไม่ชอบก็ตาม และการเปลี่ยนงานในวัย 40-50 ปี คงยาก หากไม่เก่งจริงคงไม่มีใครจ้าง ที่สำคัญอีกประการคือ ผลตอบแทนจากการออมจะต้องสูงกว่าเงินเฟ้อ

สำหรับการลงทุนส่วนตัวจะเน้นระยะยาวเกิน 5-10 ปีได้ยิ่งดี โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น

ดร.อาภรณ์ ยกตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2551 (วิกฤติการเงินสหรัฐฯ)ตลาดหุ้นทั่วโลกย่ำแย่มากติดลบประมาณ 40-50% แต่เมื่อเรายังไม่ได้ขายก็ไม่ต้องกังวลเพราะนั่นเป็นการขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น นอกจากนี้เงินที่ลงทุนก็ไม่ได้กู้เขามาจะรีบขายทำไม แต่กลับเป็นโอกาสเข้าเก็บของถูกและเพื่อเฉลี่ยต้นทุนด้วย หากเห็นโอกาสก็เข้าลงทุนไม่ต้องรีบ แต่ควรทยอยลงทุน

ถึงแม้ว่าปีที่แล้วการลงทุนในทุกสินทรัพย์ผลตอบแทนติดลบเกือบหมด ทั้ง หุ้น น้ำมัน ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกประมาณ 7-8 % ต่อปีแต่ก็เพิ่งจะกลับดีมาช่วงครึ่งหลังของปี 2551 หลังเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ฉะนั้นปีที่แล้วถือว่าเป็นสภาวะที่ไม่ปกติ ดังนั้นกระจายการลงทุนยังเป็นสิ่งจำเป็น

ดร.อาภรณ์ เปิดพอร์ตส่วนตัวให้ดูว่า ปัจจุบันลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก และเครื่องประดับทั้งทองคำ และเพชร ผลตอบแทนรวมของพอร์ต เฉลี่ย 10% ต่อปี

สำหรับการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ จะลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) โดยแยกเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ 25-30% ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ส่วนการลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนประมาณ 25-30% (บวก,ลบ ประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ )

ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นที่ดินเปล่า และบ้านที่อยู่อาศัย ประมาณ 20-25% ของพอร์ต รวมถึงการลงทุนในเครื่องประดับ ทั้งทองคำและเพชร อีกประมาณ 25-30% โดยเฉพาะ ทองคำ เริ่มซื้อตั้งแต่ราคาบาทละ 1,600 บาท และไม่เคยขายยังสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้ซื้อมาก ขึ้นอยู่กับโอกาส และความชอบมากกว่าไม่ได้มุ่งหวังเพื่อเก็งกำไร

สำหรับการถือครองเงินสด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นเงินที่ยังไม่มีแผนใช้จ่ายในระยะ 3 เดือน ก็จะฝากในกองทุนรวมตลาดเงิน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก 2-3 เท่าตัว ส่วนที่สอง จะเป็นเงินที่สำรองไว้ใช้จ่ายระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน จะอยู่ในรูปบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ได้อัตราดอกเบี้ย 0.75% ต่อปีเท่านั้น

ในช่วงดอกเบี้ยขาลง การออมที่น่าจะได้ประโยชน์กว่าเงินฝากธรรมดา คือ การออมในกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งมีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และตั๋วเงินคลัง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก ไม่ต้องเสียภาษีด้วย อีกทั้งสามารถถอนออกได้ไม่ต่างจากเงินฝาก และที่สำคัญการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน จะเห็นผลตอบแทนทุกวัน ขณะที่การฝากเงินจะเห็นผลตอบแทนเมื่อถอนเงินออก ซึ่งน่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ยังออมผิดเน้นฝากธนาคารมากกว่า

ดร.อาภรณ์ บอกว่า เธออาจจะขอเกษียณอายุการทำงานก่อนอายุ 60 ปี แต่ก็ยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาในแวดวงตลาดทุน และเป็นอาจารย์สอนพิเศษ

พร้อมทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ปรารถนาดีต่อมนุษย์เงินเดือนว่า ฝากให้ทุกคนควรเริ่มออมตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เพราะทำให้ชีวิตตอนปลายใกล้เกษียณไม่ต้องออมมาก และเมื่อถึงเป้าหมายการออมแล้วจะรู้สึกสบายเมื่ออายุใกล้ๆ 50 ปี

เธอบอกว่าทุกวันนี้คำพูดของบิดายังก้องอยู่ในหู กับประโยคที่ว่า ถ้าจะให้พ่อพาลูกๆออกไปเที่ยวและทานอาหารนอกบ้านทุกวันพ่อทำได้ แต่พอเราโตขึ้นมาแล้วไม่มีเงินอย่าว่ากันนะ นั่นหมายความว่าใช้เงินไปวันๆ แล้วไปตายเอาดาบหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook