ก.พ.ค. เผยกรอบการทำงาน ดูแลให้ความเป็นธรรมข้าราชการในเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์

ก.พ.ค. เผยกรอบการทำงาน ดูแลให้ความเป็นธรรมข้าราชการในเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เผยกรอบการทำงานเพื่อปกป้องระบบพิทักษ์คุณธรรมภาคราชการ เตรียมจับมือองค์กรอิสระ ดูแลให้ความเป็นธรรมข้าราชการ ในเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ พร้อมขจัดกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ภายหลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ ก.พ.ค. ระหว่างนี้คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างเร่งจัดทำยุทธศาสตร์และกรอบการทำงานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี รวมถึงแนวทางปฏิบัติงานในปี 2552 ซึ่งจากการระดมสมองร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดร.ฤทัย หงส์ศิริ อธิบดีศาลปกครองขั้นต้น และนางผาณิต นิติฑัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมเห็นควรให้ ก.พ.ค.เน้นการทำงานเชิงรุก โดยประสานการทำงานร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลภาครัฐอีก 13 องค์กร และองค์กรอิสระ อาทิ ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่ส่งไปยัง ก.พ.ค. อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้จากมาตรา 115 และมาตรา 124 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้วางกลไกที่สำคัญให้ ก.พ.ค. เป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย และสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ตลอดจนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ขณะเดียวกันจากการที่มาตรา 126 บัญญัติให้ ในกรณีที่ ก.พ.ค.เห็นว่ากฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และมุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม ตามมาตรา 42 ให้ ก.พ.ค. แจ้งให้หน่วยงานหรือผู้ออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกตามควรแก่กรณี เรื่องดังกล่าวยังเป็นไปในแนวทางเดียวกับความเห็นของที่ประชุม ซึ่งมองว่าควรวางระบบคุ้มครองคุณธรรมในระบบราชการ เพื่อตรวจสอบกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมที่มาจากฝ่ายการเมือง หรือในวงราชการกันเองว่ายังคงมีอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนข้าราชการที่ทำดี อย่างไรก็ตาม การหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกำหนดกรอบการทำงานของ ก.พ.ค. เห็นควรให้เร่งกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของ ก.พ.ค. เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการวางระบบพิทักษ์ระบบคุณธรรม โดยเน้นสร้างความตระหนักให้เกิดระบบคุณธรรมโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังให้สร้างตราสัญลักษณ์ คำขวัญของ ก.พ.ค. ภายใต้นิยาม ยุติธรรม เป็นธรรม และรวดเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล