แอมเนสตี้เปิดรายงานโทษประหารชีวิตไทยไม่ใช้มา8ปี

แอมเนสตี้เปิดรายงานโทษประหารชีวิตไทยไม่ใช้มา8ปี

แอมเนสตี้เปิดรายงานโทษประหารชีวิตไทยไม่ใช้มา8ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอมเนสตี้ เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก พบจีนมากสุด ขณะไทย ยังคงมีโทษนี้อยู่ แต่ไม่ประหารชีวิตนักโทษมา 8 ปีแล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตของปี 2559 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ตามลำดับ  ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่อีก 141 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว 

รายงานของแอมเนสตี้ ยืนยันว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2559 มีประชาชนอย่างน้อย 1,032 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ หรือหนึ่งใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังทำการประหารชีวิต ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุด แต่ไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงได้ เนื่องจากทางการจีนเก็บข้อมูลนี้เป็นความลับของชาติ และหากไม่นับการประหารชีวิตในจีน 87% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในโลกเกิดขึ้นในสี่ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน,ซาอุดิอาระเบีย,อิรัก และปากีสถาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 141 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ส่วนประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนลาว พม่า และบรูไนได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดเผยว่าสำหรับประเทศไทย มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ขณะนี้ไทยได้ก้าวเข้าสู่ปีที่แปดที่ไม่มีการประหารชีวิตจริง ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าไทยเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล