ปชช.ยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ป่วยวิกฤต รักษาได้ทุกโรงพยาบาล

ผ่านมา 3 วัน สำหรับนโยบายเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ภายใน 72 ชั่วโมง โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจการใช้สิทธิและหลักเกณฑ์ต่างๆ
วันนี้ (4 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. พบว่า ประชาชน มากกว่าร้อยละ 90 โทรศัพท์มาสอบถามหลักเกณฑ์ การใช้สิทธินโยบายเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉิน รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ อาการป่วยของตนเอง ว่าฉุกเฉินระดับวิกฤตหรือไม่ หากจะใช้สิทธิต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
สำหรับการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกโรงพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน กำหนดไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องรีบรักษาโดยเร็ว ผู้ป่วยสามารถเข้าไปใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน โดยแพทย์ฉุกเฉิน จะเป็นผู้ประเมินอาการว่าเข้าข่ายหรือไม่ หากไม่เข้าข่าย แพทย์จะแจ้งไปยังผู้ป่วย ว่าจะทำการรักษาต่อ หรือย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยสังกัด โดยค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วย กองทุนต่างๆ จะเป็นผู้จ่ายทั้งหมด
สำหรับแนวทางการวิเคราะห์อาการป่วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สพฉ.จัดทำระบบประเมินอาการผู้ป่วย ร่วมกับแพทย์ประจำโรงพยาบาล แต่หากผู้ป่วย หรือ แพทย์ เกิดข้อสงสัยว่าอาการป่วยวิกฤตฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ระบบจะให้แพทย์จาก สพฉ. เป็นผู้ร่วมวิเคราะห์อาการ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแพทย์และผู้ป่วยที่ใช้บริการ