พรเพชรยันสนช.พิจารณากม.ทุกฉบับรอบคอบ

ประธาน สนช. ไม่เลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม หวั่นกระทบการจัดหาพลังงานของประเทศ ยันพิจารณากฎหมายทุกฉบับด้วยความรอบคอบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีประเด็นการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เป็นปัญหา ว่า การตั้งบรรษัทดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะตั้งหรือไม่ เพราะในร่างกฎหมายใช้คำว่า "เมื่อมีความพร้อม" ซึ่งการเสนอเพิ่มหรือแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่ กมธ.สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญของกฎหมายต้องส่งกลับไปให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
อย่างไรก็ตาม ทาง สนช. จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะในหลักการของกฎหมายยังมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านปิโตรเลียมในด้านอื่นๆ และหากเลื่อนการพิจารณาอาจกระทบกับการจัดหาพลังงานของประเทศได้ แต่ต้องหาข้อยุติเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันและเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการอภิปรายของสมาชิก สนช. โดยต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายให้ทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีความเห็นไม่ตรงกันเกิดความเข้าใจและยอมรับได้
ส่วนกรณีที่การเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จะเป็นชนวนที่ทำให้ผู้ที่คัดค้านออกมาชุมนุมนั้นยังไม่อยากให้กังวลถึงเรื่องดังกล่าว
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีกระบวนการสอดไส้เพิ่มมาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2-3 ในวันที่ 30 มีนาคม นี้ โดยยืนยันว่า แนวคิดเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่มีการสอดไส้ แต่เป็นเพียงแค่การแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมาธิการ หรือ กมธ. วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยืนยันซึ่งที่ผ่านมาการประชุมของ สนช. กระทำอย่างเปิดเผย ไม่มีการประชุมลับ ใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็มาพูดคุยกันในที่ประชุม ซึ่งเข้าใจว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คงไม่ได้ติดตามร่างฉบับดังกล่าวอย่างละเอียดจึงไม่ทราบว่ามีแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติบรรจุอยู่ในร่างกฎหมาย
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม อยู่ในชั้นการพิจารณาของ กมธ. 5-6 เดือน ซึ่งได้มีการแก้ไขในหลายจุด
นอกจากนี้นายพรเพชร ยังกล่าวว่า ต้องการทำความเข้าใจ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุม สนช. ซึ่งไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่พอใจแล้วจะต้องคว่ำกฎหมาย ซึ่งบางครั้งต้องนำไปพูดคุยในที่ประชุม สนช. ว่าจะพบกันครึ่งทางได้หรือไม่ หรือ กมธ.อาจจะยอมถอนประเด็นที่มีปัญหาออกไปขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของที่ประชุม สนช. และกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเขียนออกมาแล้วต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งที่ผ่านมาในการพิจารณากฎหมายของ สนช. ก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายและมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งยืนยันว่า สนช. พิจารณากฎหมายทุกฉบับด้วยความรอบคอบ