นักวิชาการชี้รัฐเมินข้อสรุปไตรภาคีด้านพลังงานทางเลือก

นักวิชาการ เผย รัฐบาลไม่สนข้อสรุปคณะทำงานไตรภาคี เรื่องพลังงานทางเลือก หวั่นผูกขาดสิทธิ์ด้านพลังงาน
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะอนุมัติให้เกิดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ใน จ.กระบี่ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ ส่วนตัวมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปี เนื่องจากผลการศึกษาเกี่ยวกับพลังงานทั่วโลกชี้ชัด ว่า พลังงานจากถ่านหินนั้นเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด และสร้างความเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเมื่อเดือน ธ.ค. 59 ทางรัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม (ไตรภาคี) คือ 1. กระทรวงพลังงาน (กฟผ.) 2. องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) นักวิชาการ และ 3. ตัวแทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งก็มีผลสรุปออกมาแล้วว่า คณะทำงานไตรภาคี สามารถค้นพบวิธีสร้างพลังงานหมุนเวียนที่มาจากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และ ชีวมวลที่มาจากพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานถ่านหิน โดยพลังงานเหล่านี้ จะก่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ เพราะอาศัยการผลิตจากโรงงานในชุมชน มีรัฐบาลสนับสนุนรับซื้อเข้ามาดำเนินการต่ออีกทอด
แต่ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐ อ้างว่า ไม่สามารถส่งเข้าไปยังสายส่งไฟได้ เพราะท่อส่งเต็ม ทำให้เกิดข้อกังว่าหากระบบการผลิตเต็มแล้วเหตุใดจึงต้องเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม พบว่าแผนที่คณะทำงานไตรภาคีศึกษาทั้งหมดนั้น ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนให้มีการวิจัยเกิดขึ้นทำให้เกิดความกังวลว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการผูกขาดสิทธิ์ด้านพลังงานจากผู้มีอำนาจในประเทศที่ร่วมมือกับกลุ่มทุน