ห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าวแล้ว ต้องห้ามละเมิดซ้ำ “เหยื่อ” ด้วย

ห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าวแล้ว ต้องห้ามละเมิดซ้ำ “เหยื่อ” ด้วย

ห้ามนำผู้ต้องหาแถลงข่าวแล้ว ต้องห้ามละเมิดซ้ำ “เหยื่อ” ด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ กับการออกแนวปฏิบัติของกระทรวงยุติธรรม ไม่ให้นำผู้ต้องหา ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีมาแถลงข่าว โดยกระทรวงยุติธรรมเห็นความเห็นในเรื่องนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการซ้ำเติมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ทั้งพ่อแม่ พี่น้อง โดยเฉพาะบุตรที่ยังเป็นเยาวชน ซึ่งการตกเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมายไทย ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการตัดสินคดี นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเป็นการ ยังถูกจับตาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล จากการที่เราเป็นภาคีขององค์กรนี้ด้วย

แน่นอนแนวทางปฏิบัตินี้อาจจะมีบางคนบางฝ่ายไม่เห็นด้วย บางคนอาจจะนึกไปไกลถึงขั้นว่าทำไมต้องปกป้องผู้ร้ายขนาดนั้น กับเหยื่อ หรือ คนที่เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทำไมไม่เห็นใจ การเปิดโฉมหน้าของผู้ต้องหา จะเป็นการประณามเพื่อไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง เป็นการเตือนภัยให้กับคนที่ยังไม่รู้ได้ระมัดระวังตัวมากขึ้น

ในเรื่องนี้อยากให้มองกว้างออกไป และ ในการกระทำความผิดก็มีหลายลักษณะ บางครั้งการดำเนินการจับกุมของเจ้าหน้าที่ก็อาจผิดพลาด จับกุมผิดตัว หรือ มีความเข้าใจผิดในสาระสำคัญบางอย่าง ผู้ต้องหาอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้ การนำผู้ต้องหา มาแถลงข่าว เปิดให้สื่อถ่ายทอดออกไปยังสาธารณะ เท่ากับเป็นการลงโทษทางสังคมผู้ถูกกล่าวหาไปแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ได้ดำเนินการสืบสวน ฟ้องร้อง และศาลพิจารณาคดีว่าเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ และมีหลายกรณีผู้ถูกกล่าวหากลับเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในระหว่างขั้นตอนกลับถูกสังคมพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครับของผู้ถูกกล่าวหาก็เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติที่ไม่นำผู้ถูกกล่าวหามาแถลงข่าว เหมือนดังที่กระทำกันในปัจจุบัน แต่ ยังมีประเด็นที่ต้องตระหนักและขอให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน และต้องให้ความสำคัญยิ่งเช่นกันก็คือ กรณีของผู้ถูกกระทำ หรือ เหยื่อ

ที่ผ่านมา เราเห็นแนวการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และ สื่อบางส่วน นำเหยื่อจากการถูกกระทำ เช่น กรณีล่วงละเมิดทางเพศ มาแถลงข่าวต่อสื่อกันคึกโครม แม้จะมีการปกปิดใบหน้าแล้วก็ตาม แต่การที่เหยื่อซึ่งถูกกระทำได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจอยู่แล้ว กลับต้องมาปรากฏมาแสดงตัวบางกับสื่อ ถูกเผยแพร่ไปยังสาธารณะ จนบางครั้งก็เกินเลยไปถึงปล่อยให้มีการสัมภาษณ์เหยื่อออกสื่อก็มี การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดซ้ำต่อเหยื่ออย่างร้ายแรงที่สุด

นอกจากนี้ ในส่วนของการแสดงภาพของเหยื่อจากการกระทำ ถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต แน่นอนว่าในเรื่องของจรรยาบรรณสื่อมีการปกปิดและป้องกันไม่ให้ภาพออกมารุนแรงเกินไป เพื่อให้ความเคารพต่อผู้สูญเสีย แต่กระนั้นก็ตามก็ยังมีหลายครั้งหลายคราวที่ภาพต่างๆ หลุดลอดออกมา จนเกินความพอดี

ดังนั้น สิ่งที่อยากให้หน่วยงานทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วน ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้ถูกกระทำ หรือ เหยื่อจากการกระทำอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้มีการละเมิดเขาซ้ำเติมลงไปอีกไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ตาม.....

โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook