รัฐคลอดมาตรการช่วยเหลือคนตกงาน ไพฑูรย์ขอกอด6.9พันล.-แบ่งเกรดหมู่บ้านแจกเงิน

รัฐคลอดมาตรการช่วยเหลือคนตกงาน ไพฑูรย์ขอกอด6.9พันล.-แบ่งเกรดหมู่บ้านแจกเงิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสังคมในชุมชน แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบที่จะแบ่งชุมชนหรือหมู่บ้านออกเป็น 7 ขนาดด้วยกันคือ 1 จำนวนประชากรไม่เกิน 50 คน ได้ 1 แสนบาท 2.จำนวนประชากรไม่เกิน 150 คนได้ 2 แสนบาท 3.จำนวนประชากรไม่เกิน 250 คนได้ 3 แสนบาท 4.จำนวนประชากรไม่เกิน 500 คนได้ 4 แสนบาท 5.จำนวนประชากรไม่เกิน 1,000 คน ได้ 5 แสนบาท 6.จำนวนประชากรไม่เกิน 1,500 คนได้ 6 แสนบาท และ 7.จำนวนประชากรตั้งแต่ 1,501 คนขึ้นไป ได้ 7 แสนบาท ตัวเลขตรงนี้ขอย้ำว่า ถ้าหมู่บ้านใดที่เคยรับเงินไปแล้ว จะได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เช่น ถ้าเป็นขนาดที่ 7 เคยได้รับเงินไปแล้ว 3.5 แสนบาท จะได้อีกเพียง 3.5 แสนบาท แต่ถ้าหมู่บ้านใดที่อยู่ในขนาดที่ 7 แล้วยังไม่ได้รับเงินเลย ก็จะได้ 7 แสนบาท โดยจะมีคณะกรรมการคอยกำกับดูแล มีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน

ส่วนกรณีคนว่างงาน ในปีนี้คาดกันว่าจะมีผู้ตกงานเพิ่ม ประมาณ 5 แสนกว่าคน ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะนำผู้ประกอบการว่าจ้าง และผู้ว่างงานมาเจอกัน เข้าใจว่ายังมีตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ 1.2 แสนตำแหน่ง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาความเห็นชอบกรณีบุคคลที่จะฝึกอบรมอาชีพ โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พร้อมจะนำความรู้นี้กลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งจะพิจารณาให้เป็นลำดับต้นๆ และผู้สำเร็จการศึกษา แต่หางานทำไม่ได้ ถ้ามีความประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเพื่อทำรัฐวิสาหกิจชุมชน หรือจะเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการให้กับโรงเรียน จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ เช่นกัน และหากเป็นคนที่เคยกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาด้วยแล้ว ยิ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ เพราะถ้าหากมีงานทำก็จะได้ส่งรายได้ คืนใช้หนี้ที่ไปกู้ไว้

ขณะที่การฝึกอบรมจะมีสถาบันจัดฝึกอบรมให้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ส่วนราชการ เช่น กรม กระทรวงต่างๆ 2.สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ และ3.เครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น สถาบันพัฒนาชุมชน มูลนิธิองค์กรเอกชน ซึ่งมีระยะการฝึกตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ และการฝึกงานนี้ ไม่ใช่ฝึกแล้วปล่อยให้ว่างงาน แต่จะมีการหางานให้ทำ ซึ่งเป็นไปในลักษณะค่าแรงขั้นต่ำ คือ 5,000 บาท ต่อเดือน ส่วนจะเป็นระยะเวลากี่เดือน แล้วแต่ความเหมาะสม

ส่วนประเด็นที่ภาคธุรกิจใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง แต่ยังไม่อยากเลิก เพราะคิดว่า ถ้ารัฐให้ความช่วยเหลือสักระยะหนึ่ง ก็ขอให้ภาคธุรกิจนั้นแสดงความจำนงมา แต่การขอนี้ต้องขอเป็นข้อผูกมัดว่า เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินเดือนสบทบให้กับลูกจ้างของโรงงานนั้นแล้ว โรงงานต้องห้ามเลิกจ้าง ซึ่งจะอยู่ระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้กำหนดว่าเป็นกี่ปี โดยจะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.รบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำ ปี 52 ที่มีรมว.คลัง เป็นประธาน เสนอแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนว่า ไม่ควรเป็นเงินในส่วนของงบประมาณกลางปี และควรให้กระทรวงแรงงานเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ ว่าตนเห็นด้วย เพราะกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยที่มีข้อมูลชัดเจน หากใช้เป็นงบประมาณกลาง หน่วยงานอื่นๆจะนำไปใช้อย่างสิ้นเปลือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook