กรมแพทย์แจงหญิงตายทั้งกลม น้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือด ตั้งคณะกก.สอบแล้ว นิติเวชสวนทางเชื่อมดลูกแตก

กรมแพทย์แจงหญิงตายทั้งกลม น้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือด ตั้งคณะกก.สอบแล้ว นิติเวชสวนทางเชื่อมดลูกแตก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อธิบดีกรมการแพทย์ เผยตั้งคณะกก.สอบเหตุหญิงตายทั้งกลม ชี้เกิดภาวะเสี่ยงน้ำคร่ำหลุดเข้าสู่ระบบกระแสเลือด โอกาสเกิด 1 ใน 3 หมื่น ปัดเปล่าปกป้อง-แก้ตัวแทน ด้านผลชันสูตรขัดแย้ง รพ.ตำรวจระบุมดลูกแตก จากกรณีที่ น.ส.น้ำอ้อย ตุ้มทับ อายุ 22 ปี ตั้งครรภ์และมีอาการปวดท้องคลอดบุตรต้องเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ หลังน.ส.น้ำอ้อยอยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม โดยญาติได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีแพทย์ พยาบาลว่าทำการโดยประมาทนั้น

นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ภายหลังเรียกผู้บริหาร โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เข้าพบเพื่อรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธาน คาดว่าจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ และได้ประสานไปยัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้จ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณ 2 แสนบาท แก่ญาติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นทันที โดยยังไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แพทย์ พยาบาล ต้องให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงสุด โดยไม่ประมาทเลินเล่อตามมาตรฐานวิชาชีพ หากมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ปฏิบัติตาม จะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด

นพ.เรวัติ กล่าวว่า จากการสอบถามจากแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีแล้ว เข้าใจว่า สาเหตุการตายตามข้อมูลทางวิชาการ น่าจะเกิดขึ้นจากน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือด ( Amniotic Fluid embolism ) หรือ Anaphylactoid syndrome of pregnancy ซึ่งจะมีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 3 หมื่นรายของหญิงตั้งครรภ์ และมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60 -70 โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและยังไม่ทราบสาเหตุ แต่จะมีอาการบ่งบอกคือ จะมีอัตราชีพจรเต้นเร็วขึ้นอยู่ที่ 120-140 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วขึ้นอยู่ที่ 30-36 ครั้งต่อนาที จากปกติซึ่งอยู่ที่ 12-16 ครั้งต่อนาที และจากการตรวจสอบเวชระเบียนพบว่า แพทย์พบสัญญาณดังกล่าวและรีบให้ความช่วยเหลือโดยการใส่เครื่องช่วยหายใจ และมีการตามญาติเพื่อให้รับทราบอาการในทันที โดยตามมาตรฐานกำหนดว่า กรณีการรอคลอดจะต้องมีการตรวจทุก 4-6 ชั่วโมง จึงได้ทราบว่ามีความผิดปกติดังกล่าวขึ้น

ขอเวลาตรวจสอบเวชระเบียนอย่างละเอียดอีกครั้งว่า ทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้แก้ตัว ไม่ได้ปกป้อง ไม่มีเจตนาให้ข้อมูลที่ช่วยเหลือกัน ถ้าคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแล้วเห็นว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานิชาชีพ หรือประมาทเลินเล่อ แพทยสภาก็จะตัดสินลงโทษตามบัญญัติของวิชาชีพ และในฐานะข้าราชการก็จะต้องดำเนินโทษทางวินัยด้วย นพ.เรวัติ กล่าว

ด้านนพ.อุทัย ตัณศลารักษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้มาที่โรงพยาบาล ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม เวลา 08.00 น. ด้วยอาการเจ็บขาหนีบ แต่ไม่เจ็บครรภ์ แพทย์ตรวจอาการพบว่า น.ส.น้ำอ้อยไม่ได้ฝากครรภ์กับแพทย์ที่ใดมาก่อนเลย และการตั้งท้องครั้งนี้ถือเป็นท้องที่ 3 เมื่อตรวจอาการพบว่า ยังไม่มีสัญญาณการคลอด คือ คนไข้รู้สึกเจ็บห่างๆ ส่วนปากมดลูกเปิดประมาณ 1 เซ็นติเมตรนั้น คนไข้บางรายที่ผ่านการคลอดดลูกมาแล้ว ปากมดลูกก็จะเปิดประมาณ 1 เซนติเมตรอยู่แล้ว แพทย์พิจารณาแล้วว่า เป็นเพียงการเจ็บเตือน จึงให้กลับไปฝากครรภ์คลีนิคในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อดูอาการ แต่คนไข้กลับมาอีกครั้งในเย็นวันเดียวกัน โดยทางคลินิกเป็นผู้ส่งตัวมารักษาต่อ

นพ.อุทัย กล่าวอีกว่า แพทย์จึงได้ตรวจอาการอีกครั้ง พบว่า คนไข้ มีการเจ็บถี่ขึ้น แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดกว้าง และยังไม่บีบตัว จึงรับเข้ามาดูอาการในโรงพยาบาล ซึ่งคนไข้ไม่ได้ฝากครรภ์มาก่อน และไม่สามารถจำรอบเดือนได้ จึงต้องรอดูอาการและคำนวณระยะครรภ์ก่อน ระหว่างนั้นมีการนำตัวคนไข้เข้าเครื่องคำนวณระยะครรภ์ ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจเด็ก พบว่าปกติ แต่มดลูกยังไม่บีบตัว จึงให้รอดูอาการต่อ เพื่อรอให้พร้อมในการคลอด จากนั้นจึงตรวจพบว่า คนไข้มีอาการน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขณะที่น.ส.น้ำอ้อย ช็อค เมื่อตรวจเด็กอีกครั้งก็พบว่า หัวใจเด็กหยุดเต้นไปแล้ว จึงได้ทำการช่วยเหลือแม่เด็กอย่างเต็มที่ต่อ กระทั่งน.ส.น้ำอ้อย เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 02.40 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์

อาการดังกล่าวสามารถจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อตั้งครรภ์มดลูกจะมีการขยายตัว โดยรอบๆ ของกล้ามเนื้อมดลูกจะมีเส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดง เลี้ยงอยู่ เมื่อมดลูกมีการบีบตัว เส้นเลือดดำที่เลี้ยงอยู่จะถูกบีบและเกิดภาวะสุญญากาศขึ้น ซึ่งขณะที่ใกล้คลอดเยื่อหุ้มมดลูกจะเริ่มลอกตัว และมีน้ำคร่ำซึมออกมา ซึ่งภาวะน้ำคร่ำหลุดเข้าไปสู่ระบบกระแสเลือด เกิดจากเมื่อเส้นเลือดดำเกิดสูญญากาศขึ้น และมีน้ำคร่ำซึมออกมา เส้นเลือดดำมีการดูดน้ำคร่ำกลับเข้าไปในเส้นเลือดทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ขั้นรุนแรง ส่วนสาเหตุที่เด็กตายก่อน อาจเกิดจากช่วงที่แม่เกิดภาวะช็อคขึ้น ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงเด็กจนเสียชีวิตลง นพ.อุทัย กล่าว

ขณะที่พล.ต.ต.นพ.สมยศ ดีมาก แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึผลการชันสูตรศพ ของน.ส.น้ำอ้อย ตุ้มทับ อายุ 22 ปีว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจาก มดลูกแตก ด้านแนวราบ และมีรกขวางอยู่ รอยแตกทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเด็กในครรภ์ จนทำให้เสียชีวิต และพบว่ามีเลือดออกในช่องท้อง 3,000 ซีซี ซึ่งเลือดในร่างกายมีทั้งหมด 5,000 ซีซี การรักษาโดยการให้น้ำเกลืออย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องผ่าช่องท้องเอาเด็กออก แล้วเย็บมดลูก

ด้านศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาวะมดลูกแตก เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การคลอดยากเนื่องจากทารกตัวใหญ่ผิดปกติ การมีลูกหลายคน มดลูกได้รับบาดเจ็บหรือการกระแทกจากอุบัติเหตุ การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ครีม หรือการใช้เครื่องช่วยดูด รวมถึงการแตกของตัวมดลูกที่เกิดขึ้นเองการแท้งบุตรแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังมดลูก เป็นต้น

ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดา เนื่องมาจากมดลูกเกิดการบีบตัวมากเกินไป ทำให้น้ำคร่ำเข้าไปในกระแสเลือด กระจายไปที่ปอด หัวใจ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จึงเป็นคนละเรื่องกัน ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะมดลูกแตก แต่เป็นอาการที่เกิดร่วมกันได้ ในกรณีที่คลอดยาก มดลูกเกิดการบีบตัวรุนแรง ก็อาจทำให้มดลูกแตกได้

ส่วนการรักษาสามารถให้เลือด ให้สารน้ำ ทำการเย็บซ่อมแซมมดลูก หรือตัดมดลูกทิ้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยด้วย โดยการเสียชีวิตจากมดลูกแตกมักเกิดจากภาวะที่ตกเลือดมาก ทำให้เกิดภาวะช็อค หมดสติ ความดันตก หัวใจหยุดเต้น แต่พบได้น้อยและไม่บ่อย เนื่องจากหากได้รับการดูแลทันท่วงทีก็จะสามารถช่วยชีวิตมารดาได้ ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำคร่ำของทารกรั่วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต แต่ผลชันสูตรกลับพบว่า เสียชีวิตจากภาวะมดลูกแตกนั้น ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook