จับตา...ระบบประเมินผลข้าราชการ

จับตา...ระบบประเมินผลข้าราชการ

จับตา...ระบบประเมินผลข้าราชการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับระบบราชการไทย ระบบการบริหารแผ่นดินที่ยาวนานมากว่า 100 ปี นับจากมีการปฏิรูปส่วนราชการเป็นกระทรวง ทบวง กรม ดังปัจจุบันนี้

ระบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ ระบบประเมินผลข้าราชการ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า

"จะนำระบบประเมินผลแบบใหม่มาใช้โดยเริ่มในวันที่ 1 เมษายน เป็นมาตรการกระตุ้นข้าราชการเกียร์ว่าง

โดยเราเป็นเหมือนครูออกข้อสอบ ไม่ใช่หน่วยงานที่ถูกประเมินเป็นผู้ออกข้อสอบเอง การประเมินยึดหลัก 3 ข้อ คือ

1. ประเมินจากภาระหน้าที่ปกติ

2.ประเมินตามยุทธศาสตร์หรือภารกิจพิเศษ เพราะผู้บริหารแต่ละคนมีภารกิจพิเศษแตกต่างกัน เช่น การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เรื่องของการแก้ไขปัญหาการบินระหว่างประเทศ ประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์

3. ประเมินจากพื้นที่ เพราะในบางพื้นที่นั้นมีภารกิจพิเศษ ขณะที่บางพื้นที่นั้นไม่มี เช่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับประชาชนเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง

ทั้งนี้ การประเมินจะทำแบบ 360 องศา คือให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ประชาชน เป็นผู้ประเมิน

โดยเริ่มใช้หลักนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป และจะรู้ผลว่าการประเมินนั้นเป็นคุณหรือโทษในวันที่ 1 ตุลาคม 2559

ทั้งนี้ ผลการประเมิน เป็นคุณหมายถึงการเลื่อนขั้น การเพิ่มงบประมาณ การให้โบนัส เป็นโทษหมายถึงการลดงบประมาณ งดโบนัส มีการแต่งตั้งโยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังต้องมีการออกแบบ แบบฟอร์มเกี่ยวกับการประเมินอีก"

เท่าที่ดูหลักเกณฑ์เบื้องต้น การประเมินผลงานมีกรอบเหมือนกับการประเมินผลของเอกชน ที่เน้นประสิทธิภาพของงานเป็นหลัก

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ระบบประเมินผลนี้จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการให้คุณให้โทษได้จริงหรือไม่ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งจากเดิมที่ผู้บังคับบัญชา มีอำนาจให้คุณให้โทษ มาก เรียกว่า หากนายรักขึ้นมาละก็ การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งไปไวยิ่งกว่าจรวดกันทีเดียว

จากเดิมในตำแหน่งระดับบริหาร เป็นที่ทราบกันว่า ส่วนหนึ่ง ข้าราชการบางคนมักจะวิ่งเข้าหานักการเมืองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษ ให้ตำแหน่ง โดยแลกกับการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง พรรคพวกของนักการเมือง ซึ่งเป็นช่องทางของปัญหาทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้จะหายไปหรือไม่ ?

ปัญหาเกียร์ว่างของราชการส่วนหนึ่งก็มาจาก การที่ข้าราชการถือข้าง เป็นพวกกับบรรดานักการเมือง ที่เป็นผู้เอื้อเป็นผู้ให้ประโยชน์ กับตนนั้นเอง

นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ การประเมินผลงานข้าราชการนี้ จะช่วยให้ จิตวิญญาณความเป็นข้าราชการดีขึ้นหรือไม่ จิตวิญญาณข้าราชการที่ ต้องทำหน้าที่เป็นข้าแผ่นดิน ทำหน้าที่บริหารและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ มีมากขึ้นหรือไม่ จิตวิญญาณของข้าราชการที่ต้องบริการประชาชน ที่เป็นผู้เสียภาษีอากรดีขึ้นหรือไม่ ทัศนคติของข้าราชการ ที่ชอบทำตัวเหนือกว่าประชาชน ทำตัวเป็นเจ้านายประชาชนจะจางหายไปหรือไม่..?

ต้องติดตามดูกันต่อไปครับ ก็หวังและเอาใจช่วยกับมาตรการของท่านรองนายกฯ และรัฐบาลว่า จะช่วยสร้างมิติใหม่ให้กับระบบราชการ เป็นระบบราชการที่มีจิตวิญญาณของความเป็นข้าราชการ เป็นข้าของแผ่นดินอย่างแท้จริง...

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook