ประภาส ชี้ วิกฤติชาวนาเกี่ยวข้องกับรายได้
รศ.ดร.ประภาส วิกฤติชาวนาปัจจุบันนั้น ไม่ใช่วิกฤติแบบเก่าที่ไม่มีน้ำ หรือน้ำแล้ง แต่มีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของชาวนา
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมืองในสังคมชาวนาภาคกลาง ในงานรัฐศาสตร์เสวนา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ในอดีตทั้งระบบเศรษฐกิจและการเกษตรนั้น เป็นแบบยังชีพในครัวเรือน ใช้แรงงานคนเป็นหลัก สภาพนิเวศ ระบบนิเวศ มีความหลากหลายและสมบูรณ์ พึ่งพิงภายในครัวเรือนชุมชนสูง พึ่งพาจากภายนอกต่ำ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หลังปี 2510 เกิดการปฏิวัติเขียวขึ้น มีการใช้สารเคมีในการเกษตร ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบันราวปี 2540 - ปัจจุบัน ถือว่าเป็นยุคชาวนาแบบผู้จัดการนา พัฒนาการของระบบการผลิตในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้เครื่องจักร ส่งผลให้เกษตรกรสามารถทำนาได้มากและรวดเร็วขึ้น จึงทำให้เกิดการทำนาลักษณะใหม่ แบบผู้จัดการนา และเป็นการทำนาแบบงานไม่ประจำ (Part-time) ซึ่งเจ้าของนาใช้เวลาการทำนาเพียง 10 - 15 วันต่อฤดูกาล แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ราคาผลผลิตหรือการขายข้าวเปลือกมีความแปรผันสูงมาก จึงเกิดการรวมกลุ่มในการทำนาสมัยใหม่ จึงอาจสรุปได้ว่าชีวิตชาวนาเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นทุนนิยม ทั้งวิถีการผลิต การใช้ชีวิต รวมถึงการบริโภค ไม่แตกต่างจากวิถีชีวิตแบบคนเมืองใหญ่ การทำนาเพียงอาชีพเดียวของชาวนา ไม่อาจสามารถทำให้เกษตรมีชีวิตรอดได้ จึงจะต้องมีการหารายได้จากนอกภาคการเกษตร ทั้งเป็นแรงงานรับจ้างภาคการเกษตร หรือรวมถึงผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อหาทางออกให้กับชีวิต ซึ่งการหารายได้ต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกภาคการเกษตรนั้น ก็ทำไม่ได้ทำให้พ้นจากสภาวะ คอปริ่มน้ำ ดังนั้น การเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ทั้งการเลือกตั้ง การประท้วง และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น และถือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกกันได้
โดย รศ.ดร.ประภาส ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการเสวนาว่า วิกฤติชาวนาปัจจุบันนั้น ไม่ใช่วิกฤติแบบเก่าที่ไม่มีน้ำ หรือน้ำแล้ง แต่มีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของชาวนา ดังนั้น การเมืองจึงมีความสำคัญกับชีวิตของคน และสามารถทำให้ชีวิตของคนอยู่ได้