นายกฯวอนร่วมคิดรธน.ลดขัดแย้งดูอยู่สภาขับเคลื่อน

นายกรัฐมนตรี อย่ามองร่างรธน.ไม่ผ่าน เพียงเรื่อง ปชต.-สืบทอดอำนาจ ขอทุกคนช่วยกันเดินหน้าประเทศ เชิญทุกฝ่ายร่วมสภาขับเคลื่อน มั่นใจงาน สปช. ไม่เสียหาย กำลังดูสัดส่วนคนมาสานต่อ รธน.-ปฏิรูป ยึดติด ปชต.สากลทั้งหมดไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านสถานีโทรทัศน์ รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยากให้ทุกคนมองในหลายมุม อย่ามองแค่เป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเรื่องของการสืบทอดอำนาจ อยากให้ช่วยคิดทำอย่างไรให้ประเทศชาติ และประชาชนนั้นได้ประโยชน์ มีความสงบสุข ประชาชนไม่ถูกนำกลับเข้าไปสู่ความขัดแย้ง และการปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนต่อไปให้ได้
พร้อมอยากให้ทุกคนช่วยคิดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปที่จะร่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสืบทอดอำนาจ ขอให้มาร่วมมือ ทำความเข้าใจในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น พรรคการเมือง นักการเมืองไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม อยากให้เข้ามามีส่วนในเรื่องของการปฏิรูป ในสภาขับเคลื่อนที่เรากำลังจะตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าไม่เข้ามาแล้ววิจารณ์ในเชิงทำให้เสียหายนั้นรับไม่ได้ วันนี้ต้องทำทั้งสร้างประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นสากล แก้ปัญหาประเทศชาติไปได้ด้วย และเดินหน้าเรื่องการปรองดอง ผ่านกระบวนการกฎหมายและยุติธรรม และปฏิรูปใน 11 เรื่อง 37 วาระ ไปพร้อม ๆ กันภายใต้กฎหมายที่จะต้องอำนวยความสะดวกในการทำงานทั้งหมด
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า เรื่องการปฏิรูป ผลงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้ดำเนินการไว้ไม่เสียหาย ถึงจะมีความขัดแย้งบ้าง นั่นคือประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่จะตั้งใหม่ 200 คน กำลังดูสัดส่วนต่าง ๆ แต่ละพวกแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อให้นำแผนปฏิรูปของ สปช. แต่ละกิจกรรมนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และต้องมีกฎหมายมากำกับดูแล ไม่ใช่ คปป. ก็ควรจะมีกลไกอะไรหรือไม่ ไปคิดมา ถ้าไม่ดีจะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบเพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า สิ่งที่ทำวันนี้ ถ้าดีต้องส่งต่อ และหาวิธีการให้ทำงานให้ได้ กระบวนการในหลักรัฐธรรมนูญหรือในการปฏิรูป ฯลฯ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติบ้าง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ไปหลบเลี่ยงทั้งหมด กับเรื่องประชาธิปไตยโลกที่เป็นสากล เพราะเป็นไปไม่ได้แน่นอน ต้องสร้างความเชื่อใจให้ได้ ทั้งประชาชน นักการเมือง ข้าราชการ ต้องเชื่อใจระหว่างกัน และต้องไม่สร้างความเข้าใจผิดบิดเบือนต่อไป ให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินไป ด้วยความเป็นธรรม ยืนยัน ไม่ก้าวล่วงอำนาจตุลาการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการหลายด้านเพื่อดูแลประชาชน ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกกลุ่ม ตั้งแต่รายได้สูง รายได้ปานกลาง รายได้น้อย โดยรายได้น้อยนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาอย่างแท้จริง เพราะมีหลายกลุ่ม เช่น เกษตรกร รับจ้าง พร้อมกันนี้จะต้องดูแลทั้งในเรื่องการเตรียมเรื่องของการปรับโครงสร้างต่าง ๆ การลงทุน การดูแลธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ให้ใหญ่ขึ้น SMEs รวมถึงการปรับโครงสร้างเรื่องการบริหารจัดการน้ำใหม่ ควรจะมีแนวทางอย่างไรถึงจะบริหารจัดการได้ทั่วถึง และเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ การจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่ให้ทั่วถึง ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์จะอยู่ในแผ่นดินนี้อยู่แล้ว แต่หากให้ไปแล้วก็อย่านำไปขาย เพราะถ้าไปขายแล้วก็บุกรุกใหม่ซึ่งมันจะเป็นอยู่แบบนี้ ป่าก็หมดไปเรื่อย ๆ พอป่าลดลงอะไรก็ลดลง ฝนก็ลดลง จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนตกบ้างไม่ตกบ้าง มาล่าช้าบ้าง หมดเร็วบ้าง น้ำเก็บกักไม่ได้ในตัวเขื่อนจน ต้องมาทำอ่างกักเก็บน้ำนอกเขื่อน ใต้เขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้
อย่างไรก็ตาม ในหลายเรื่องที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนนั้น ขณะนี้ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ประชาชนทุกคนเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งทางรัฐบาลก็พยามอยากจะสร้างสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไว้ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และไม่ลำบากอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องเข้าใจกันก่อน นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุนนั้น จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมในการลงทุน โดยเฉพาะยิ่งต้องดูแลผลประโยชน์ของคนไทยด้วยเป็นหลัก ทั้งการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ให้มีการแข่งขันโดยเสรี เกิดความทั่วถึง มีผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องมองหลายมิติ หลายมุม ถ้ามองปัญหาเกิดอย่างเดียว จะทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าปัญหาวันนี้มีหลายอย่างที่สะสมไว้ ไม่ได้แก้ไข หลายอย่างกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ ให้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี ในวันนี้ขอบคุณคนที่เคารพกฎหมาย ขอบคุณที่ยอมรับในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในขณะนี้ว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแล้ว
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ในส่วนของต่างประเทศ ตนเอง คสช. และรัฐบาลเข้าใจดีถึงพันธผูกพันต่าง ๆ และใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการสร้างความเข้าใจ ให้มีเหตุมีผล ยอมรับในหลักการและความจำ แต่สาเหตุที่ยังเข้าใจผิด เพราะว่าคนที่กระทำความผิดหลบหนีไป พยายามไปให้ข้อมูลที่บิดเบือนกับต่างประเทศ ซึ่งกำลังให้กระทรวงการต่างประเทศไปตรวจสอบ
ส่วนเรื่องการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ยืนยันใช้ในทางสร้างสรรค์เพื่อการปฏิรูป ขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาที่ซับซ้อนให้ได้ภายในเวลาจำกัด ตลอดจนย้ำไม่เคยว่านักการเมืองทั้งหมด ว่าแค่บางคนเท่านั้น ต้องแยกคนเหล่านี้ออก เพราะอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และในวันหน้าอยากให้มีนักการเมืองหน้าใหม่มาก ๆ เข้ามาทำงานอย่างแท้จริง และสานต่อสิ่งที่ทำไว้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs นั้น ในวันนี้ก็มีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ เรื่องการขึ้นทะเบียนของ SMEs ให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะหากมีการดำเนินการตามกฎกติกาแล้ว จะง่ายต่อการดำเนินการให้ทั่วถึง และไม่เกิดปัญหาข้อร้องเรียนในภายหลัง ในเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ในเรื่องเงินทุนต่าง ๆ เรื่องการตลาด เรื่องแรงงาน เทคโนโลยีการผลิต การดีไซน์ การบริหารจัดการ การระบุข่าวสารทุกกิจกรรม รัฐก็ต้องเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ ข้าราชการทุกส่วนทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดูแลให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ในเรื่องของการผลิตตั้งแต่ต้น การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเชื่อมโยงทั้งชุมชน จังหวัด ภูมิภาค วันนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการจัดตั้งตลาดกลางเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ เชื่อมโยงกับตลาดชุมชนและลดจำนวนการค้าขายชายแดน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ และรัฐบาลได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ในเรื่องมาตรการทางการเงิน รัฐบาลได้มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ใช้เป็นเงินหมุนเวียนวงเงินรวมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท โดยให้ธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยกับสถาบันการเงินและตกลงร่วมกันแล้ว ที่ผ่านมาบางทีรัฐบาลออกมาตรการไปแล้วทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีการหารือรายละเอียดร่วมกัน อีกเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาคือเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS-5 วงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท รายละไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน รวมถึง เรื่องของกระทรวงการคลัง มาตรการต่าง ๆ ได้แก่ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs จากเดิมร้อยละ 15 หรือมากกว่า ให้เหลือร้อยละ 10 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ รัฐบาลจะลดภาษีให้ 5 รอบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบันจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ได้ชี้แจงว่า ในลุ่มน้ำและเขื่อนสำคัญต่าง ๆ มีผลกระทบโดยตรงกับพี่น้องเกษตรกร ชาวนา เพราะฉะนั้นทุกคนก็รอว่ารัฐจะแจ้งเตือนอย่างไร จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งหมด ทั้งการปลูกข้าวนาปรังในช่วงปลายฤดูฝนปีนี้ และปีหน้า เนื่องจากเรามีน้ำต้นทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ร้อยละ 10-20 เป็นพื้นที่ฝนขาดช่วงและฝนตกนอกพื้นที่เขื่อนอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็ทำให้น้ำในเขื่อนหลัก ๆ ลดลงอย่างแน่นอน โดยรวมแล้วน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 17 แห่ง ต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 30% เพราะฉะนั้นมีปัญหาแน่นอน ในส่วนของนาปรังอาจจะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ รัฐบาลจะไปหาทางว่าจะทำอย่างไรปรับเปลี่ยนอาชีพ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชก่อนได้ไหม พอน้ำดี แหล่งน้ำดี ฝนตกมา น้ำเพิ่มมากขึ้นก็กลับมาทำนาใหม่ แต่ตอนนี้ต้องไปทำอย่างอื่น ที่มีรายได้ ในช่วงนี้ที่น้ำแล้ง และต้องดูสถานการณ์ปีหน้าด้วย จะมีผลในเรื่องของการเพาะปลูกทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้เร่งรัดให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแล ทั้งการผลิต ต้นทุนการผลิต Demand Supply เครื่องไม้เครื่องมือ และในส่วนของโซนนิ่งพื้นที่ รวมถึงการตลาดด้วย ต้องมีการบริโภคกันเองในประเทศ ขายชายแดน และส่งประเทศไกล ๆ ต้องแข่งขันกับได้ ถ้าต้นทุนสูง ราคาสูง ลดราคาแข่งกับเขาไม่ได้ เสียหายอีก นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำเรื่องน้ำวันนี้ กำลังทำแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม ในลักษณะแก้มลิง - ขนมครกบ้าง ใหญ่ ๆ คงทำยาก ก็ทำเล็ก ๆ ให้กระจายไปทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ที่มีความแล้งซ้ำซากก่อน ที่เหลือก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งในพื้นที่เขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานต้องทำทั้งคู่ เพราะน้ำในเขื่อนน้อยลง ต้องพร้อมที่จะรองรับน้ำที่จะใช้อุปโภคบริโภค เรื่องการส่งเสริมอาชีพ การรวมกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ จะมีการขึ้นทะเบียนให้ชัดเจนทำบัญชีเพื่อจะให้การช่วยเหลือได้โดยตรง ส่งเสริมการประกอบอาชีพในอนาคต