เทียนฉายยันไร้อำนาจสั่ง21กมธ.มีสิทธิ์โหวตรธน.
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยืนยัน ไม่มีอำนาจสั่ง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน มีสิทธิ์ลงมติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขอพิจารณาข้อกฎหมายในคำร้อง สปช. ปมคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนตัดสินใจยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
ก่อนการเริ่มประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามข้อสงสัยในร่างรัฐธรรมนูญ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เข้าหารือกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง และใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการหารือ ทั้งนี้ เมื่อสอบถามว่า หารือกันเรื่องใด ก็ปฏิเสธตอบคำถาม แต่ นายเทียนฉาย เปิดเผยว่า ในฐานะประธาน สปช. ไม่มีอำนาจตัดสิน กรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช. 21 คน มีสิทธิ์ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากในอนาคต ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ไม่สามารถลงคะแนนได้ ก็ให้ตัดคะแนนส่วนนั้นออก เนื่องจากเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย ขณะเดียวกัน พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า การที่กรรมาธิการ 21 คน จะมีสิทธิ์ลงมติหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเมื่อถึงเวลาก็ต้องพิจารณาตามประเพณีความเหมาะสม
เทียนฉายดูข้อกม.ส่งคำร้องสปช.ตีความ
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขอเวลาพิจารณาข้อกฎหมายก่อนตัดสินใจจะยื่นคำร้องของสมาชิก สปช. ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่างรัฐธรรมนูญประเด็นคำปรารภหรือไม่ ทั้งนี้ จะทันเวลาที่ สปช. ลงมติ หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ศาลเช่นกัน แต่ขออย่ายึดเงื่อนไขเวลาการทำประชามติ เพราะยังมีเวลา 4 - 5 เดือน
ด้าน พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ประเด็นเรื่องคำปรารภนั้น เห็นว่า อาจจะเร็วไปที่จะมองว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีกระบวนการร่างที่ต่างกัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา กรรมาธิกานยกร่างฯ ได้ส่งร่างฉบับสมบูรณ์ให้ สปช. พร้อมชี้แจงเรื่องคำปรารภไปแล้วว่า เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและกรรมาธิการยกร่างฯ ที่จะร่วมกันยกร่างคำปรารภ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายหลังจากผ่านกระบวนการทำประชามติ แต่เบื้องต้นกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีการเขียนคำปรารภบางส่วนไว้แล้วในภาพรวมบันทึกเจตนารณ์ของร่างฯ ที่จะนำส่งให้ สปช. สัปดาห์หน้า