สำรวจความ (ไม่) พร้อม แอร์พอร์ตลิงก์ ก่อสร้างล่าช้า-สารพันปัญหารุม

สำรวจความ (ไม่) พร้อม แอร์พอร์ตลิงก์ ก่อสร้างล่าช้า-สารพันปัญหารุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4075

ดูเหมือนความหวังของ โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จะเปิดใช้บริการโครงการรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสาร ในเมืองหรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2552 จะกลายเป็นความหวัง ที่ดูเลือนรางซะแล้ว

เพราะเมื่อเหลียวดูความพร้อมถึงวันนี้ปรากฏว่ายังย่ำอยู่กับที่ ด้วยสารพันปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาเก่าที่ยังสะสางไม่หมด และปัญหาที่เกิดใหม่ จนทำให้ การบริหารจัดการดูยุ่งยากไปหมด แม้กระทั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเองก็ยังประเมินไม่ได้ว่าจะเปิดบริการได้เมื่อใดแน่

มีการฟันธงล่วงหน้าแล้วว่า หากปัญหาหลายๆ อย่างยังไม่ได้รับการสะสางยืนยันได้ 100% ว่าโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เปิดให้บริการไม่ได้แน่ ไม่ว่าปีนี้หรือปีหน้า

เริ่มจากงานก่อสร้าง ปัจจุบันคืบหน้า 95% ผู้รับเหมา (บจ.บี.กริม อินเตอร์เนชั่นแนล-บจ.ซีเมนส์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) ได้สิทธิขยายเวลาถึง 3 ครั้ง สัญญาเดิมสิ้นสุด วันที่ 7 สิงหาคม 2550 ต่อสัญญาอีก 180 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เรื่องช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม หมดอายุสัญญา วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551

จากนั้นได้ต่อสัญญาอีก 370 วันจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า หมดสัญญาวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ล่าสุด ขอขยายระยะเวลาอีก 180 วันตามมติ ครม.วันที่ 17 มิถุนายน 2551 จากปัญหาวัสดุก่อสร้างและน้ำมันมีราคาแพง จะสิ้นสุดสัญญา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552

แม้งานจะล่าช้าต้องรอแล้วรออีก แต่ก็ปรับผู้รับเหมาก่อสร้างไม่ได้ เพราะมีมติ ครม.อุ้มอยู่

ผลพวงที่ตามมา ทำให้เกิดปัญหาขึ้นระหว่าง ร.ฟ.ท.กับบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง เมื่อการรถไฟฯยังไม่จ่าย ค่าจ้างรวม 17 เดือน คิดเป็นเงิน 114 ล้านบาทให้ จนทำให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เตรียมนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

การรถไฟฯโยนความผิดให้ ครม.รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพราะมีมติขยายเวลา และให้บริษัทที่ปรึกษาไปบี้ ที่ ครม.เอง ล่าสุด ผู้บริหารการรถไฟฯกำลังหาทางออกอยู่ จะของบประมาณ จาก ครม.มาจ่าย เพราะการรถไฟฯเอง ไม่มีเงิน แหล่งข่าวจากการรถไฟฯกล่าว

นอกจากนี้ยังไม่มีวิศวกรอิสระ มารับรองความปลอดภัย หรือ ICE เนื่องจากการรถไฟฯยังไม่ได้รับ งบประมาณจากรัฐบาลวงเงินกว่า 200 ล้านบาท จึงจัดจ้างไม่ได้

เรื่องนี้คาราคาซังมาเป็นปีๆ แล้ว ว่ากันว่าลึกๆ มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพื่อเรียกผลประโยชน์เรียกค่าหัวคิว จากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของการรถไฟฯ 15%

ปัญหาการจัดหา operator หรือผู้เดินรถไฟฟ้า ที่ยังล่าช้ามาก ตามแผนงานจะต้องได้ผู้เดินรถไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเปิดให้บริการ แต่ขณะนี้ การรถไฟฯยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะตั้ง บริษัทลูกบริหารเอง หรือจ้างบริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์อย่าง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีเอ็มซีแอล) หรือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) มาเดินรถให้ชั่วคราว

เนื่องจากการรถไฟไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่ต้องรอใบสั่งจากเจ้ากระทรวงคมนาคมว่าจะให้เดินไป ทิศทางไหน

อย่างไรก็ตาม ถึงขณะนี้ทางออกมีอยู่ทางเดียว คือ ว่าจ้างเอกชนมาเดินรถให้ เพราะคงตั้งบริษัทลูกไม่ทันแล้ว ที่สำคัญไม่มีความพร้อมทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนที่กำหนดไว้ 500 ล้านบาท การว่าจ้างพนักงาน 600 คน เป็นต้น คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี กว่าจะตั้งบริษัทลูกได้สำเร็จ

ระบบตรวจเช็กมาตรฐานความปลอดภัยกระเป๋าสัมภาระภายในสถานีมักกะสันที่จะเป็นสถานี เช็กอินให้กับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ จนวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะติดตั้งระบบนี้หรือไม่ เพราะแรกเริ่มไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ถ้าจะติดตั้งจะต้องเพิ่มงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง และอยู่ระหว่างรอความเห็นจาก บมจ.ทอท.ว่าจะต้อง ติดตั้งเพิ่มหรือไม่

แนวโน้มที่เป็นไปได้สูงยิ่งคือการรถไฟฯ จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเคลียร์ปัญหาทุกอย่างให้จบ หน้า 7

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook