แจงร.พ.ไทยติดเชื้อคร่านางงามดัง

แจงร.พ.ไทยติดเชื้อคร่านางงามดัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีน.ส.มารีอานา บริดี ดา คอสตา อายุ 20 ปี นางงามบราซิล ติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในโรงพยาบาลจนเสียชีวิต เบื้องต้นทราบว่าเชื้อดังกล่าวชื่อว่า ซูโมนาส เออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) นั้น เป็นเชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่มีความรุนแรงและสามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วมาก โดยทั่วไปหากผู้ป่วยติดเชื้อที่บริเวณแผลภายนอกร่างกาย หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อและตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นๆ ทิ้ง เพื่อสกัดการลุกลามของเชื้อ แต่กรณีนางงามบราซิล มีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ทวีความอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมาก เพราะเชื้อจะวิ่งไปตามเลือดและเข้าไปสู่อวัยวะส่วนต่างๆ โดยเชื้อที่พบในโรงพยาบาลสามารถพบได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อมากที่สุด คือ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานมากกว่าคนทั่วไป จะมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนได้มาก

น.พ.สุพรรณกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย มีนโยบายและข้อบังคับว่า โรงพยาบาลทุกแห่งจะต้องมีคณะกรรมการดูแลเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเพื่อดูแลเฝ้าระวังการติดเชื้อ และดูแลสถานพยาบาลให้ปลอดเชื้อ หากพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อจากโรงพยาบาลจะสามารถแยกแยะเชื้อได้ ด้วยการเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ทราบว่าเป็นเชื้อชนิดใด มีความรุนแรงหรือไม่ เพื่อทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทำให้ประเทศไทยพบการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้น้อยลง

ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเป็นลำดับต้นๆ โดยมีการวางมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวด อุปกรณ์ทางการแพทย์จะต้องมีการฆ่าเชื้ออย่างดีทุกครั้งหลังการรักษา และมีมาตรการการทำลายเชื้อโรคอย่างดี น.พ.สุพรรณ กล่าว

น.พ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดในไทยคือ ติดเชื้อที่ปอด พบประมาณ 1 ใน 3 รองลงมาคือติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล จัดเป็นมาตรฐานด้านคุณภาพบริการของโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรผู้ให้บริการ และผู้ที่เข้ามาในโรงพยาบาล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งครอบคลุมการเฝ้าระวังการติดเชื้อของผู้ป่วยทุกระบบ และจัดทำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อในตำแหน่งที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย เช่น การป้องกันปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยได้จัดส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทุกคนในโรงพยาบาล ระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงการติดตามหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ที่สำคัญยังเน้นย้ำให้บุคลากรทางการแพทย์ล้างมือฆ่าเชื้อก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยทุกครั้ง โดยในปีนี้กรมสนับสนุนฯ จะจัดประชุมวิชาการแสดงผลงานของโรงพยาบาลต่างๆ ในเดือนมิ.ย. 2552 นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook