สมาคมนักบินไทยถกปัญหาฝูงนกรอบสุวรรณภูมิ ชนเครื่องบินบ่อย หวั่นซ้ำรอยยูเอส แอร์เวย์ส

สมาคมนักบินไทยถกปัญหาฝูงนกรอบสุวรรณภูมิ ชนเครื่องบินบ่อย หวั่นซ้ำรอยยูเอส แอร์เวย์ส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สมาคมนักบินไทย หารือปัญหาฝูงนกรอบสุวรรณภูมิ เหตุเป็นอันตราย ชนเครื่องบินบ่อย หวั่นซ้ำรอย ยูเอส แอร์เวย์ส ร่อนลงจอดกลางแม่น้ำฮัดสัน เผยสร้างปัญหาการบินเป็นประจำ เสียหายหลายล้านบาท แนะจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบใหม่ เพื่อให้นกย้ายที่หาอาหาร นายกรณ์ แมนสุมิตร์ชัย รองประธานสหพันธุ์สมาคมนักบินนานาชาติ (IFALPA) เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 มกราคมว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางการเดินอากาศ เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สมาคมนักบินไทยได้ส่งนายสินนภ เทพรักษา ประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมนักบินไทยเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว สมาคมนักบินไทยได้นำปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางการบินเข้าหารือในที่ประชุม โดยเฉพาะประเด็น เกี่ยวกับอันตรายจากฝูงนกจำนวนมากที่บินเข้ามาในพื้นที่รอบๆ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่นักบินทุกคนเป็นห่วงมากสำหรับการบินขึ้น-ลงของสนามบินแห่งนี้

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ฝูงนกชนิดต่างๆ ที่มาอาศัยพื้นที่แอ่งน้ำร่องน้ำที่มีอยู่หลายแห่งรอบๆ สนามบินเพื่อหาอาหาร มักจะเป็นอุปสรรคต่อการบังคับเครื่องบินขึ้น-ลงของนักบินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกขนาดใหญ่ เช่น นกปากห่าง นกยาง นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกชายเลนต่างๆ ที่มักบินเข้ามาในบริเวณสนามบิน และบางส่วนก็บินเข้าชนเครื่องบิน ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ การที่ฝูงนกอาจเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และอาจเกิดอันตรายเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของสายการบินยูเอส แอร์เวย์ส ที่นักบินต้องนำเครื่องลงจอดในแม่น้ำฮัดสัน มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังฝูงนกบินเข้าชนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้นักบินทุกคนที่ใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นประจำเป็นห่วงอย่างมาก และยอมรับว่าทุกคนกลัวอันตรายจากนกเหล่านี้ และเคยนำเสนอไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.หลายครั้ง ให้จัดการสภาพแวดล้อมบริเวณสนามบิน เพื่อไม่ให้นกเข้ามาในบริเวณสนามบิน เช่น ควบคุมระดับน้ำในคูคลอง ความสูงของหญ้าหรือแม้แต่อาหารของนกบางชนิด

นายกรณ์ กล่าวว่า หากทำให้น้ำแห้งไปหรือลึกไปนกคงจะเปลี่ยนสถานที่หาอาหารไปที่อื่นแทน เพราะลำพังแค่การใช้วิธีไล่นกคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตาม จากการประชุมที่ผ่านมา ได้รับคำชี้แจงจาก ทอท.ว่า ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ที่ไม่สามารถทำให้รวดเร็วเพราะไม่มีงบประมาณ

ที่ผ่านมา สมาคมนักบินไทยมีการประชุมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพยายามขอให้นักบินเขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาที่พบในระหว่างการทำการบิน โดยเก็บเป็นสถิติตัวเลขให้ชัดเจน เพื่ออ้างอิงในการจัดทำเป็นข้อเสนอต่อ ทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะปัญหาการบินที่เกิดจากนกเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปีที่แล้วก็มีเครื่องบินของสายการบินไทยที่จะบินไปลอนดอน ประเทศอังกฤษประสบปัญหาเครื่องบินบินชนฝูงนกขณะที่นำเครื่องบินขึ้นทำให้เครื่องยนต์เสียหาย แม้นักบินสามารถนำเครื่องกลับมาลงได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทิ้งน้ำมันและซ่อมเครื่องยนต์ไปหลายล้านบาท ล่าสุดก็มีเครื่องบินของสายการบินเอกชนแห่งหนึ่งได้รับความเสียหายที่เกิดจากนกเช่นกัน นับเป็นมูลค่าหลายล้านบาทด้วย นายกรณ์กล่าว

นายกรณ์กล่าวว่า ตามปกติองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมสัตว์อันตรายต่อการบินภายในและนอกเขตสนามบิน (Standard Operation Procedures : SOP) ให้ทุกสนามบินทั่วโลกดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการรบกวนการบินของนกก็เป็นปัญหาที่สนามบินหลายแห่งทั่วโลกประสบอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างไร กรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ แม้ว่าจะมีการพูดถึงเรื่องปัญหานกมาตั้งแต่เริ่มเปิดใช้ และ ทอท.ชี้แจงมาตรการต่างๆ แต่ก็ยังไม่พบการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

จนถึงขณะนี้จึงต้องยอมรับว่า สนามบินแห่งนี้ในความเห็นของนักบินส่วนใหญ่เป็นจุดอันตราย และเสี่ยงหลายจุด โดยมีปัญหาเรื่องนกอยู่ในลำดับแรก ตามด้วยเรื่องของสภาพของสนามบินเช่น ความพร้อมของระบบไฟตามจุดต่างๆ ทั้งบนทางวิ่งและทางขับ ที่เสียหายมาตั้งแต่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่มเปิดใช้งาน แต่ยังไม่มีการซ่อมแซม ขอให้ ทอท.เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนก่อนที่จะมีโครงการสร้างรันเวย์ที่ 3 นายกรณ์ กล่าว

ด้าน ดร.ฟิลิป ดี ราวด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นกที่เป็นปัญหาอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิส่วนใหญ่เป็นนกปากห่าง ซึ่งมีขนาดใหญ่สามารถบินขึ้นได้สูง และอาจจะส่งผลกระทบต่อการบินของเครื่องบินได้จริง เพราะนกเหล่านี้ไม่กลัวเสียงดังของเครื่องบิน รวมทั้งชอบที่จะมาหากินอาหารตามแหล่งน้ำที่มีหอยเชอรี่ หรือสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยในแหล่งน้ำที่อยู่บริเวณรอบๆ สนามบิน และชอบที่โล่ง นกปากห่างเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่นที่จะมีอยู่ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังมีนกอพยพชนิดอื่นๆ ที่จะอพยพมาราวเดือนมีนาคม-เมษายน และจะมากที่สุดในฤดูฝน แต่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนกในสนามบินสุวรรณภูมิอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เช่น กำจัดแหล่งอาหาร จำกัดแหล่งน้ำบริเวณสนามบิน และไล่นกตลอด 24 ชั่วโมง เพราะจากข้อมูลพบว่า เหตุการณ์ที่นกบินชนเครื่องบินมากกว่าครึ่งมักเกิดตอนกลางคืน ดร.ฟิลิป กล่าวและว่า ควรใช้มาตรการเดียวกับต่างประเทศ ที่จัดจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้มาตรการมีประสิทธิภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook