เปิดแนวทางขับเคลื่อน CSR ฉบับ DBDi ฝ่าวิกฤติอย่างยั่งยืน

เปิดแนวทางขับเคลื่อน CSR ฉบับ DBDi ฝ่าวิกฤติอย่างยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความพยายามและการมุ่งหวังขององค์กรธุรกิจที่จะขับเคลื่อนนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ(CSR: Corporate Social Responsibility)ผ่านกิจกรรมต่างๆ ต้องยอมรับว่าตลอดสาม ปีที่ผ่านมา องค์กรไทยส่วนใหญ่ดำเนินการไปในลักษณะลองผิดลองถูก หรืออยากทำอะไรก็ทำ เพราะยังขาดความรู้และเครื่องมือนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมไปถึงการต่อยอดไปสู่ความยั่งยืน และอีกส่วนหนึ่งต้องทำเพราะการดำเนินธุรกิจนั้นโดยข้อกล่าวหา จึงต้องทำกิจกรรมเพื่อให้สังคมและภาครัฐ ยอมรับ

เป็นมุมมองจาก อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Development Institute: SBDI)ที่ให้คำปรึกษา อบรม ตลอดจน ศึกษา วิจัย และพัฒนากรอบเครื่องมือ และการออกแบบแผนแม่บท เพื่อสนับสนุนการทำงานซีเอสเอสอาร์ขององค์กรต่างๆ

แต่นับจากปี 2552 เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่มีหลายปัจจัยที่จะทำให้รูปแบบ และกลยุทธ์การขับเคลื่อนซีเอสอาร์องค์กรธุรกิจในไทยเปลี่ยนแปลงไป และมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรม ที่ผสมผสานและเชื่อมโยง ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเข้าด้วยกัน

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ 2552 จะเป็นปีแห่งนวัตกรรมด้านซีเอสอาร์ ในทุกส่วน ขยายความว่า จากนี้ไปบริษัทในไทยต้องหลุดจากวังวนการทำซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ที่ไม่ใช่ทำแบบตามใจองค์กร หรือแค่บริจาค แต่จะต้องทำให้ตอบสนองกับมาตรฐานบริบทโลกและบริบทในประเทศ ทั้ง ISO 26000, OECD, UN Global Impact, GRI, SRI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยิ่งในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ ยิ่งจำเป็นต้องทำซีเอสอาร์ในลักษณะบูรณาการ หรือต้องใช้ทั้งกระบวนการผลิต คู่ค้า ลูกค้า ให้เกิดการเชื่อมโยง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน และสามารถตอบกลับมาสู่องค์กรได้

อนันตชัย กล่าวว่า ธุรกิจทุกกลุ่มมีซีเอสอาร์เป็นเนื้อในอยู่แล้วแต่ถูกบทบังด้วยเศรษฐกิจที่ต้องทำกำไร ซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจที่ทำกันในปัจจุบันจึงเป็นกลุ่มที่เน้นทำกิจกรรมอย่างเดียว มีสัดส่วนถึง 50-60% กลุ่มที่เริ่มบูรณาการ มีประมาณ 30-40% และกลุ่มที่มีการนำซีเอสอาร์ไปใช้กับกระบวนการในองค์กร ปรับองค์กรใหม่หมด 10%

ซีเอสอาร์เป็นเรื่องของทัศนคติมากที่สุด หรือกระบวนการคิดที่ต้องมาจากวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม นโยบายขององค์กร ไหลมาสู่กลยุทธ์ขององค์กร จากนั้นจึงไปดีไซน์กิจกรรมอีกทีหนึ่ง และสามารถใช้เป็นเครื่องมือควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่การวางแผน การนำไปปฏิบัติ การตรวจสอบ การวัดและการประเมินอย่างแท้จริง และสามารถเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

จึงเป็นที่มาของกรอบแนวทางซีเอสอาร์เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ Corporate

Sustainability Framework (ดูตารางประกอบ) ที่ SBDI จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาซีเอสอาร์ในองค์กร ที่นำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถประเมินวัดผลตัวเอง และพัฒนาต่อยอดได้ตลอด รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับทุกมาตรฐานใหม่ของซีเอสอาร์ที่มีเป็นหมื่นมาตรฐาน

โดยประมวลจาก 10 กรอบใหญ่ที่ประกอบด้วย หนึ่งการนำองค์กรของผู้บริหาร สองการวางแผนเชิงกลยุทธ์สาม การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด สี่สิ่งแวดล้อม ห้าการวัดการวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ หกการมุ่งเน้นบุคลากร เจ็ดการสื่อสาร แปดการจัดการกระบวนการ เก้าสังคม และสิบผลลัพธ์

กรอบแนวทางนี้ยังนำไปพัฒนาคุณภาพองค์กรที่นอกจากคงเป้าสร้างกำไรสูงสุดแล้วยังทำให้วิถีทางแห่งความรับผิดชอบที่ทำให้สังคม สิ่งแวดล้อม เสียหายน้อยที่สุด ที่สำคัญนำไปสู่การเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนี้ จะต้องคำนึงถึง 1. ผู้นำ( Leadership) ต้องมีความเข้าใจแนวคิดซีเอสอาร์ 2. มีคณะทำงานซีเอสอาร์ (CSR Committee)จะเป็นคนเดียวหรือ ทีมก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะองค์กร ต้องคิดกิจกรรมที่เหมาะสมและให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกส่วนขององค์กร รวมทั้งต้องมีสิทธิ์ มีเสียงและอำนาจตัดสินใจ สนับสนุนให้ซีเอสอาร์กระจายไปทุกส่วนในองค์กร

3. ต้องเข้าใจว่าซีเอสอาร์เกี่ยวพันกับบริบทใดบ้างทั้งภายในและภายนอกประเทศ (Understand Internal and External contexts) 4. มีแผนและแนวทางสร้างความเข้าใจ รวมทั้งเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ( Stakeholders Collaboration & Engagement) ทั้งในองค์กรและนอกองค์กร ทั้งด้านบวกและด้านลบ 5. มีแนวทางและเครื่องมือในการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรยั่งยืน( CSR Framework) นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสามารถพัฒนาต่อเนื่อง เมื่อมีมาตรฐานใหม่เข้ามาสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที

6. มีการออกแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ( Communication Design) เช่น ความรู้ความเข้าใจ สู่การปฏิบัติได้ และเป็นการสื่อสารที่ขับเคลื่อนภายในองค์กรสู่ภายนอกองค์กรด้วย 7. มีการจัดการความรู้อย่างมีระบบ(Knowledge Management) เหมาะกับแต่ละองค์กร หรือสามารถจัดเก็บและนำไปใช้ สู่การประเมิน วัดผล ถ้าปฏิบัติได้ดีจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม

วันนี้องค์กรใดมีวิสัยทัศน์ด้านซีเอสอาร์ที่ชัดเจน และมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพองค์กรได้ ก็ไม่น่าจะเป็นแค่เพียงการตอบโจทย์เพื่อฝ่าภาวะวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ออกไปได้ แต่จะช่วยสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กลายเป็นองค์กรที่แข็งแรง มั่นคง และเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook