นักธุรกิจผู้บริจาคหวั่นพม.โยนบาป!

นักธุรกิจผู้บริจาคหวั่นพม.โยนบาป!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แจกปลากระป๋อง อภิสิทธิ์ สั่งตั้งกรรมการสอบคุณภาพของบริจาค หลัง พม. แจกปลากระป๋องเน่า ด้าน วิฑูรย์ นามบุตร โต้ เปล่าจัดฉากแถลง ยัน มีคนบริจาคจริง รัฐไม่ได้จัดซื้อ ไม่กลัวถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่ วิเชน สมมาต โผล่เคลียร์ทางโทรศัพท์ บริจาคจริง แต่สงสัยถูกวางยาให้เป็นจำเลยสังคม เตรียมทำหนังสือถามพม.กรณีปลากระป๋องเน่า หวั่นถูกโยนบาป พร้อมขอเวลาเคลียร์งานก่อนแถลงเปิดใจ โบ้ยไม่รู้จักนักการเมืองคนไหนเป็นพิเศษ อย.เผยผลตรวจปลากระป๋อง ชาวดอย ไร้แบคทีเรีย รอผลโลหะหนัก และสารปนเปื้อนอื่น ๆ ชี้โรงงานปิด แต่ผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายเข้าข่ายผลิตอาหารปลอม ฉลากลวง ขู่ฟันปรับ-จำคุก เผยบุกโกดังพบพืช ผัก ผลไม้กระป๋องวางรอปิดฉลากเพียบ ทำท่าจะเป็นหนังเรื่องยาว กรณีกระ ทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำปลากระป๋องยี่ห้อ ชาวดอย ไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ จ.พัทลุง แต่ของบริจาคกลับกลายเป็นปลากระป๋องเน่า ทั้งที่วันหมดอายุเหลืออีกตั้ง 3 ปี เบื้องต้น นายวิฑูรย์ นามบุตร เจ้ากระทรวงฯ ออกมาแถลงว่า ความผิดอยู่ที่เอกชนผู้รับสัมปทานจัดซื้อจัดจ้างส่งของเน่าเสียให้ชาวบ้าน ล่าสุดกลับลำแถลงข่าวอีกรอบว่า เป็นปลากระป๋องที่รับบริจาคมาจาก นายวิเชน สมมาต อดีตรองเลขาธิการสมาคมชาวพัทลุง แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลัง กลับไม่พบรายชื่อดังกล่าวอยู่ในสารบบผู้บริจาค รวมทั้งในทะเบียนรายชื่อสมาชิกสมาคมชาวพัทลุงด้วย

ความคืบหน้า ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำปลากระป๋องเน่ายี่ห้อ ชาวดอย ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวบ้าน จ.พัทลุง ว่า ตนสอบถามนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้ว ได้รับการชี้แจงว่าที่บอกว่าผู้บริจาคไม่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนที่กระทรวงฯ เนื่องจากไปแจ้งไว้ที่ จ.พัทลุง ซึ่งตนได้ย้ำให้ตรวจสอบต่อไป หากไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจะต้องดำเนินการสอบสวนต่อ ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ มั่นใจหรือไม่ว่านายวิฑูรย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ดูจากคำชี้แจงของรัฐมนตรี บอกว่าเป็นการดำเนินการในระยะเวลากระชั้นและได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากไปพัวพันถึงใคร หรือรัฐมนตรีก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้น มาเพื่อตรวจสอบคุณภาพของที่รับบริจาค เพราะปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ พม. เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหลายองค์กรที่รับบริจาคของ ซึ่งต้องมีวิธี รัดกุมกว่านี้

ด้านนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่มีข่าวจัดฉากเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นตรวจสอบปัญหาปลากระป๋องเน่า ที่ในครั้งแรกอ้างว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส แต่ในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 19 ม.ค. กลับระบุว่าเป็นการบริจาค ว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวง พม. รายงานมา และตนได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไปแล้ว ขอยืนยันว่าของที่นำไปแจก เป็นของที่รับบริจาคมา ไม่ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด และไม่มีการจัดฉาก หรือให้ใครรับเป็นแพะ เพียงแต่ในช่วงแรกยังไม่ได้ตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจึงทราบข้อเท็จจริง ทุกอย่างมีเอกสารยืนยันได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการตรวจสอบแล้วไม่พบรายชื่อนายวิเชน สมมาต อยู่ในทะเบียนผู้บริจาคของให้กระทรวงฯ นายวิฑูรย์กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ นายวิเชนแค่ประสานมาที่กระทรวงฯ ไม่ได้มามอบของที่กระทรวงฯ แต่ส่งตรงไปยัง จ.พัทลุง เลย ดังนั้นก็ต้มีหลักฐานอยู่ที่พัทลุง ทราบว่าเขาบริจาคไป 5,000 กระป๋อง แต่แจกไปแค่ 1,500 กระป๋อง พอทราบว่ามีปัญหาก็งดแจกไป ส่วนเรื่องผ้าห่มที่ถูกร้องเรียนว่าไม่มีคุณภาพเพราะบางเกินไปนั้น ต้องดูก่อนว่าเป็นผ้าห่มที่ท้องถิ่นซื้อ หรือทางป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนซื้อ หรือเป็นของบริจาคมา แต่ถ้าเป็นผ้าห่มในส่วนของกระทรวงฯ ตนสั่งการไปแล้วว่าให้ทำให้ถูกต้อง การนำของไปแจกชาวบ้าน หากเป็นของที่รับบริจาคมา ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบของให้แน่ชัดก่อนว่ามีคุณภาพ รวมทั้งหากมีการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบราชการ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้จัดซื้อแต่อย่างใด และหากฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมก็ไม่หวั่นไหว ชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ นายวิฑูรย์ ยืนยัน

ขณะที่นายวิเชน สมมาต บุคคลที่นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พม. ระบุว่าเป็นผู้นำปลากระป๋องเน่ายี่ห้อ ชาวดอย มาให้กระทรวงฯนำไปบริจาคชาวบ้านที่ประสบภัยที่ จ.พัทลุง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ ว่า เรื่องของเรื่องเมื่อทราบว่า จ.พัทลุง เกิดประสบภัยน้ำท่วม เลยสั่งให้ลูกน้องไปดูว่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เพราะปกติก็ทำอยู่แล้ว คนพัทลุงส่วนหนึ่งจะรู้จักตนดี ตอนแรกจะประสานให้ทางสมาคมจังหวัดพัทลุง ซึ่งตนเคยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมฯ เมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่เดียวกับสมาคมชาวปักษ์ใต้ แถวปิ่นเกล้า ให้ช่วยดำเนินการ แต่เนื่องจากไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำ จึงให้ลูกน้องที่ชื่อ ปาริชาติ ประสานงานดูว่ามีหน่วยงานใดรับบริจาคบ้าง ลูกน้องก็ประสานมาที่พม. จริง ๆ ตนจะไปบริจาคเอง แต่ก็ได้รับคำแนะนำจากกระทรวงฯ ว่าประสานไปยังจังหวัดให้ช่วยดำเนินการได้ ก็ให้ลูกน้องไปดำเนินการ เพราะลำพังตนไม่มีเวลา ต้องทำธุรกิจก่อสร้าง เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย

นายวิเชน กล่าวต่อว่า ถุงยังชีพที่นำไปบริจาคก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เพราะให้ลูกน้องดำเนินการ อีกทั้งตนไม่ได้บริจาคคนเดียว มีเพื่อนฝูงช่วยกันสมทบด้วย แต่คิดว่าไม่น่าเกิน 1,500 ชุด และไม่คิดว่าของบริจาคจะมากมาย จนเกิดปัญหาเป็นข่าวใหญ่โต ตนเป็นคนทำมาหากิน ไม่อยากยุ่งกับการเมือง และไม่อยากเป็นข่าว คิดแค่ทำบุญช่วยชาวบ้าน สบายใจก็จบ แต่เวลานี้เป็นเรื่องราวใหญ่โต ไม่ได้ทำการทำงาน ต้องคอยรับโทรศัพท์จากพรรคพวกและนักข่าว

ตั้งแต่เช้ามีแต่คนโทรศัพท์มาหาผม รวมทั้งพรรคพวกก็โทรฯมาถามถึงข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ แม้แต่สถานีวิทยุชุมชน จ.พัทลุง รวมถึงนักข่าวมากมายโทรฯ มาขอสัมภาษณ์ ผมก็บอกไปว่าไม่รู้เรื่อง เพิ่งจะรู้จากการแถลงข่าวของกระทรวงฯว่าของที่ส่งไปไม่มีคุณภาพ เพราะเมื่อวานผมยังอยู่ที่ จ.ตราด นายวิเชนกล่าว พร้อมตอบคำถามกรณีที่ถูกมองว่าเป็นแพะรับบาปแทนกระทรวง พม. หรือไม่ว่า ผมไม่ทราบว่าเป็นแพะหรือเปล่า แต่ยืนยันว่าผมได้บริจาคของจริง แต่คนบริจาคมีมากมาย ผมเองยังไม่แน่ใจเลยว่าปลากระป๋องชาวดอยที่ว่าเน่าเป็นของผมหรือไม่ เพราะของที่บริจาคไปไม่น่าจะเกิน 1,500 ชุด ไม่ใช่อะไรใหญ่โต ผมเข้าใจว่านักข่าวต้องการข้อมูล แต่จะให้มาเช็กตรงนี้ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะผมไม่ได้บริจาคคนเดียว มีเพื่อนฝูงด้วย และเวลานี้ลูกน้องคนประสานงานก็ไปเกาหลี แต่คิดว่าหลังกลับมาจะเช็กข้อมูลอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ทาง พม. ได้แจ้งให้ทราบก่อนแถลงข่าวถึงการเป็นเจ้าของถุงยังชีพที่มีปลากระป๋องเน่าหรือไม่ นายวิเชน กล่าวว่า ไม่มีใครแจ้งอะไรมา ตนรู้จากข่าวเช่นกัน ทำให้ไม่มีเวลาทำการทำงาน มัวแต่รับโทรศัพท์ สงสัยเหมือนกันว่าปลากระป๋องที่ว่าเป็นของตนจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะปรึกษาพรรคพวกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะตนกลายเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว อาจจะทำหนังสือสอบถามกระทรวงฯให้ยืนยันว่าของที่บริจาคดังกลวมาจากตนจริงหรือไม่ ต่อข้อถามว่าพร้อมจะเปิดตัวแถลงข่าวชี้แจงต่อสาธารณะหรือไม่ นายวิเชน กล่าวว่า ต้องขอดูเวลา ตนทำธุรกิจเดินทางไปมา ไม่รู้จะมีเวลา หรือไม่ วันนี้ก็ต้องเดินทางไปเกาะกูด ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่ารู้จักนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พม. หรือไม่ นายวิเชน กล่าวว่า ตนเป็นพ่อค้า ไม่รู้จักนักการเมืองคนไหนเป็นพิเศษ แต่พรรคพวกก็อาจจะมีบ้างที่รู้จักนักการเมือง

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการ อย.พร้อมเจ้าหน้าที่ ไปตรวจสอบสถานที่ผลิตปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยเพิ่มเติม โดยเข้าไปยังโกดังเก็บสินค้า เป็นคนละจุดกับโรงงานที่ขออนุญาต และปิดปรับปรุง พบอาหารบรรจุในกระป๋องหลายชนิดที่ยังไม่ปิดฉลาก เช่น พืช ผัก ผลไม้กระป๋อง และเห็ดแชมปิญองกระป๋อง จึงได้อายัดสินค้าไว้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือผลิตอาหารกระป๋องด้วย ขณะนี้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเข้าข่ายความผิดอย่างไร ส่วนแหล่งผลิตสินค้ากระป๋องยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลิต จากที่ใด ก่อนนำมาบรรจุไว้ที่โกดังแห่งนี้ เพราะโรงงานปลากระป๋องตราชาวดอยได้หยุดการผลิตไปแล้ว เนื่องจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร (สสจ.) ไม่ต่อใบอนุญาตให้ เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่ให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ซึ่งปกติโรงงานผลิตอาหารจะมีการต่ออายุใบอนุญาตให้ปีต่อปี

จากการเก็บตัวอย่างปลากระป๋องยี่ห้อชาวดอยที่ จ.พัทลุง ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ตรัง ไม่พบเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน แต่กำลังตรวจสอบอยู่ว่า มีสารโลหะหนักหรือสารอื่น ๆ ปนเปื้อนอีกหรือไม่ ทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างปลากระป๋องยี่ห้อเดียวกัน ลอตเดียวกัน ที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกบางแห่งในกรุงเทพฯ ตรวจสอบ คาดว่าผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ส่วนฉลากของปลากระป๋องยี่ห้อนี้ พิมพ์วันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้ล่วงหน้าไม่ตรงกับวันผลิตจริง ซึ่งวัน เวลาที่ระบุในฉลากเป็นช่วงโรงงานปิดอยู่ จะได้ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป สำหรับโทษการผลิตอาหารปลอม ฉลากลวง มีโทษจำคุก 6-10 ปี ปรับ 5,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโรงงานที่รับจ้างผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นอาหารปลอมเช่นกัน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลขาฯ อย.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พัทลุง ว่าในส่วนของถุงยังชีพเจ้าปัญหา ที่พม. มอบให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.พัทลุง 5,000 ชุด โดยส่งให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ประสบภัย 1,500 ชุด แล้วพบว่าปลากระป๋องกินไม่ได้นั้น ส่วนที่เหลืออีก 3,500 ชุด ถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านของ น.ส.สุธีรา นุ้ยจันทร์ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมฯ จ.พัทลุง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด มีการปิดประตูแน่นหนา ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกเด็ดขาด อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้มี ส.ส.พัทลุง คนหนึ่งเข้าไปนำถุงยังชีพดังกล่าวออกไปตรวจสอบ 1 ชุด ด้านนายสุเทพ โกมลภมร ผวจ.พัทลุง ยืนยันว่าถุงยังชีพที่เหลือจะไม่นำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เพราะประชาชนคงไม่มั่นใจที่จะบริโภค คงต้องจัดหาของใหม่มาแทน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook