''แกรนท์ ธอร์นตัน'' เผยผลสำรวจ นักธุรกิจไทยมองลบส่งออก

''แกรนท์ ธอร์นตัน'' เผยผลสำรวจ นักธุรกิจไทยมองลบส่งออก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติที่จัดทำโดย แกรนท์ ธอร์นตัน (Grant Thornton International Business Report) ได้สำรวจทัศนคติของธุรกิจจำนวนกว่า 7,200 ราย จาก 36 กลุ่มเศรษฐกิจ รายงานว่า ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกมีทรรศนะว่า ภายในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า การเติบโตของการส่งออกจะอ่อนตัวลง (ค่าดุลยภาพที่ +4%*) โอกาสในการเพิ่มรายรับมีจำกัด (+11%) และโอกาสในการเพิ่มราคามีจำกัด (+14%) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต่างๆ มองว่าความสามารถในการทำกำไรจะลดลงเพียงเล็กน้อย (-5%)

ทางด้านรายรับ ธุรกิจในบางประเทศยังคงมีความคาดหวังในระดับสูงต่อรายรับ ได้แก่ เวียดนาม (+91%) อินเดีย (+71%) รวมถึงแอฟริกาใต้และอาร์เมเนีย (+54% ทั้งสองพื้นที่) แต่บางประเทศ เกรงว่าจะมีการรับรู้รายได้ในระดับต่ำสุด ได้แก่ ฮ่องกง (-48%) ไต้หวัน (-44%) ญี่ปุ่น (-23%) และสเปน (-21%)

ส่วนผู้ประกอบการชาวไทยมีมุมมองด้านลบต่อรายรับ โดยมีดุลยภาพโดยรวมที่ -14% ซึ่งคล้ายคลึงกันกับผลการสำรวจเมื่อต้นปี 2551 ทางด้านโอกาสในการส่งออก ผู้ประกอบการชาวไทยมีทัศนคติด้านลบตามกระแส โดยมีค่าดุลยภาพด้านลบที่ -11% ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการหลายรายไม่คาดหวังต่อการเพิ่มขึ้นของการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญในปี 2552

ทั้งนี้ผลการสำรวจรวมจากผู้ประกอบธุรกิจชาวไทยซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติทางลบโดยทั่วไปที่เกิดจากการเมืองภายในประเทศและสภาวะเศรษฐกิจโลก อาจแสดงสภาพความเป็นจริงและน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ได้

แกรนท์ ธอร์นตัน ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่ผลการสำรวจจากทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มขาลงจากปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ (แม้ว่ากลุ่มเศรษฐกิจยังคาดหวังต่อการเพิ่มขึ้นของรายรับ) โดยค่าเฉลี่ยโลกของความคาดหวังต่อรายรับลดลงกว่า 50 จุดจากปีที่ผ่านมา

นายปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการอาวุโส แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า ยังพบความแตกต่างของผลการสำรวจในระดับบริษัทและประเทศ ที่น่าสนใจ โดยดูเหมือนว่าหลายธุรกิจยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อตลาดของตนเอง และกำลังคาดหวังให้เกิดการฟื้นตัวอย่างอัศจรรย์ในช่วงต้นปีนี้

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจต่างๆ ใน 26 ประเทศจาก 36 ประเทศที่ได้รับการสำรวจคาดหวังว่าการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยกลุ่มเศรษฐกิจผู้นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดต่างกำลังชะลอตัว คำถามก็คือ ตลาดสำหรับการส่งออกนั้นจะอยู่ที่ใด

นายวอล์คเกอร์ กล่าวว่า คำแนะนำที่แกรนท์ ธอร์นตัน มีให้ต่อธุรกิจในระยะสั้นคือ มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่าย พัฒนาความสามารถในการผลิต และรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าไว้ ถัดมาคือการตัดสินใจเสริมความแข็งแกร่งให้กับงบดุลเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจขาขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ควรมีความตื่นตัวในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Distressed Assets) ในราคาถูก ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของบริษัทในระยะยาว นอกจากนี้ควรใช้ประโยชน์จากบรรยากาศทางธุรกิจที่เงียบเหงาในขณะนี้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถต่างๆ (เช่น การฝึกอบรมพนักงาน) อาจเป็นการลงทุนที่ดีสำหรับอนาคต

อนึ่งค่าเปอร์เซ็นต์ดุลยภาพ (Percentage Balance) คือ ความต่างระหว่างเปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับการสำรวจที่มีทัศนคติด้านบวกและผู้ที่มีทัศนคติด้านลบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook