ก.พาณิชย์ขอสีเขียวตรวจทุจริต - คุมสินค้าเกษตร อลงกรณ์ดึงอัศวินเป็น ปธ.ปราบโกงข้าวโพด

ก.พาณิชย์ขอสีเขียวตรวจทุจริต - คุมสินค้าเกษตร อลงกรณ์ดึงอัศวินเป็น ปธ.ปราบโกงข้าวโพด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก.พาณิชย์ ดึงคนมีสีเข้าตรวจสอบทุจริต - คุมสินค้าเกษตร อลงกรณ์ ดึง อัศวิน เป็นประธานปราบโกงข้าวโพด พบ 10 จังหวัดใน 20 จังหวัดเป้าหมายรับจำนำข้าวโพดส่อลักลอบ ปลายสัปดาห์เคาะมาตรการระบายข้าวโพดในประเทศ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 19 มกราคม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก วันที่ 20 มกราคม เพื่อหารือและขอกำลังทหารตรวจสอบ และกวาดล้างขบวนการทุจริตตามชายแดน โดยจะขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการบริหารการจัดการสินค้าเกษตร เพราะต้องอาศัยกำลังและการกำกับดูแลในการตรวจค้นและปราบปรามการลักลอบและสวมสิทธิสินค้าเกษตร ที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้ โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 21 มกราคมนี้ ก่อนนำเข้าครม.วันที่ 27 มกราคมอีกครั้ง นอกจากนี้ จะขอให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู เพื่อขอความร่วมมือจากกองทัพบกเพื่อมาช่วยเรื่องนี้

ส่วนการตรวจสอบการระบายข้าว จากรัฐบาลชุดที่แล้ว คงต้องเสนอผลการสอบสวนเข้า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้หนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอครม.ตั้ง กขช. ส่วนคณะกรรมการสอบสวนการระบายข้าว คาดว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์จะเสนอผลสอบสวนข้อเท็จจริงมาประมาณปลายสัปดาห์นี้ นางพรทิวา กล่าว

แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เหตุผลที่นางพรทิวา ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาสินค้าเกษตร เพราะมีอำนาจสั่งการเรื่องกำลังทหาร และเป็นเลขา กอ.รมน.ดูแลด้านความมั่นคง การลักลอบตามชายแดนถือว่า เป็นเรื่องของความมั่นคงอย่างหนึ่ง ก็จะสามารถดำเนินการเอาผิดโดยเร็วและเข้าถึงผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือในท้องถิ่น ประกอบกับการตรวจสอบของข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ มักเป็นการรายงานข้อเท็จจริง โดยไม่ระบุการกระทำผิดทางการเมือง เพราะเกรงเรื่องการต้องรวมรับผิดชอบด้วย และมักอ้างว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนั้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้การสานต่อ โดยเฉพาะการพิจารณาเอาผิดกรณีอนุมัติระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลสมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการอนุมัติแบบรวบรัดและขายต่ำกว่าทุนมาก จนทำให้รัฐเกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ดอคส.) ที่มีนายถิระชัย วุฒิธรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติเปลี่ยนรักษาผู้อำนวย อคส. จาก น.ส.ณัฐฐิรา ลิ่ววรุณพันธ์ รองผอ.อคส. เป็นนายพงษ์ภัฏ เรียงเครือ เป็นกรรมการหนึ่งในบอร์ดอคส. มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นมติลับในการประชุมและอ้างเหตุผลว่า รักษาการเดิมมีภารกิจด้านแก้ต่างคดีความระหว่าง อคส.กับเอกชนค่อนข้างมาก ทำให้มีเวลาเพียงพอกับการทำงานปกติ ซึ่งขณะนี้ อคส.ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการสั่งการดูแลปัญหาตามโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรหลายชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และกำลังเตรียมรับจำนำปาล์มน้ำมันและยางพารา

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกับการรับจำนำโครงการแทรกแซงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2551/52 ครั้งที่ 1/2552 ว่า มติที่ประชุมตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีลักลอบและสวมสิทธิ์ข้าวโพด โดยมีพล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธาน จะทำการตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัดติดชายแดนและปริมาณรับจำนำข้าวโพดผิ ได้แก่ จ.ตาก เลย น่าน เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา ทั้งนี้ จะตรวจสอบในประเด็นปริมาณรับจำนำเกินโควต้าที่แจ้งไว้ ปริมาณครบถ้วนหรือไม่ ให้สิทธิเกษตรรับจำนำเกินโควตารายละ 1 แสนบาทหรือไม่ และมีการนำข้าวโพดต่างชาติสวมสิทธิ์หรือไม่

ได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามี 2 - 3 จังหวัดนอกเหนือจากน่านและตาก (แม่สอด) ที่มีตรวจสอบมาก่อนหน้านี้ว่า มีพฤติกรรมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวโพดจริง อนุกรรมการที่ตั้งขึ้นก็จะมีการเร่งรัดในการตรวจซ้ำและขยายพื้นที่ให้ครบ 10 จังหวัดที่มีการแจ้งเบาะแสมา หากพบว่าไม่ว่าใครกระทำผิดก็จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายทันทีรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้พิจารณาให้ขยายปริมาณรับจำนำข้าวโพดอีก 2.5 แสนตัน ในราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ใช้งบประมาณ 2,125 ล้านบาท จากที่มีขยายปริมาณรับจำนำจาก 5 แสนตัน อีก 2.5 แสนตัน ภายหลังตั้งรัฐบาลใหม่ เป็น 7.5 แสนตัน หากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มกราคมนี้ ปริมาณรับจำนำเพิ่มเป็น 1 ล้านบาท นอกจากนี้ได้เร่งรัดให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) กรมการค้าภายใน(คน.) แก้ปัญหาความล่าช้าในการรับจำนำเพื่อเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกร และธกส.ให้แก้ไขความล่าช้าในการออกใบประทวน

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ปลายสัปดาห์นี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าและพิจารณาออกแนวทาง และมาตรการช่วยเหลือปัญหาผลผลิตตามข้อตกลงคอนแทคฟาร์มมิ่งกับ 3 ประเทศชายแดน ได้แก่ กัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งมีผลผลิตตามสัญญาคอนแทคฯ ปี 2551/52 รวม 1.24 ล้านตัน ในจำนวนนี้ กว่า 6.9 แสนตันผลิตที่กัมพูชา โดยปีผลิต 2550/51 มีผลผลิตรวม 3.18 แสนตันเท่านั้น แนวคิดในการแก้ไขอาทิ ส่งเสริมการตั้งบโรงงานผลิตเอธานอล หรือ โรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ใน 3 ประเ ทศดังกล่าว รวมทั้งให้เตรียมการในการระบายข้าวโพดที่รับจำนำในประเทศ ซึ่งขณะที่มียอดจำนำ 632,831 ตัน จากที่มีมติให้รับจำนำ 7.5 แสนตัน

เดิมนั้นปัญหาข้าวโพดนั้นไม่เกิด เพราะไทยผลิตได้ 3.6 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้ 3.7 ล้านตัน ก็จะนำเข้าเล็กน้อย เพียงพอกันพอดี แต่เมื่อมีการส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้าน ผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจากแสนกว่าตัน เป็น 1.2 ล้านตันภายใน 2 ปี และในประเทศเองก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการล้นตลาด ที่สำคัญราคารับจำนำค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด ทำให้เกิดการเข้าโครงการมากขึ้นกว่าปกติ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขและไม่เฉพาะข้าวโพดเท่านั้นยังเป็นเรื่องสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆด้วย กระทรวงพาณิชย์กำลังให้ข้าวโพดและมันสำปะหลังเป็นสินค้าควบคุมและใช้มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายก่อนได้รับอนุมัติ ขอการอนุมัติผ่านมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนาม นายอลงกรณ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า รายงานตัวเลขผลผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่รายงานต่อที่ประชุมฯ พบว่าผลผลิตปี 2551/52 จะมี 3.744 ล้านตัน และเมื่อดูช่วงเวลาผลผลิตออกสู่ตลาด ช่วงก.ค.-ต.ค.2551 ประมาณ 68.94% พ.ย.-ธ.ค.2551 ประมาณ 24.68% และม.ค.-มิ.ย.2552 อีก 6.38% ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูการผลิต ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ผลผลิตจะเหลือตกค้างสูงถึง 2 ล้านตัน โดยคาดว่าจะเหลือผลผลิตอยู่ในมือเกษตรกรเพียง 2 แสนกว่าตันเท่านั้น ดังนั้น ปริมาณที่เหลือสูงถึง 2 ล้านตันนี้ ไปตกอยู่ในมือของใคร และหากมีการรับจำนำเพิ่ม จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร และจังหวัดเป้าหมายรับจำนำข้าวโพดมีทั้งสิ้น 20 จังหวัด แต่สั่งการให้ตรวจจเช็คตัวเลขรับจำนำผิดปกติใน 10 จังหวัด สะท้อนให้เห็นถึงการลักลอบที่ค่อนข้างสูง

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนกุล อุปนายกสมาคมข้าวไทยและประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดพิจิตร กล่าวถึงกรณีข่าวมีโรงสีบางแห่งของ จ.พิจิตร นำรายชื่อเกษตรกรชาวนาที่มีนาแต่ไม่ได้ทำนาปี 2550/2551 เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปี เพื่อเป็นการสวมสิทธิกินส่วนต่างในโครงการรับจำนำข้าวว่าเป็นไปได้ยาก เพราะขั้นตอนของเกษตรกรที่จะไปเบิกเงินของเกษตรกรที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่ง จ.พิจิตร ผลิตข้าวนาปี ปีละ 1 ล้านตัน ขณะนี้การจำนำเพิ่งออกไปแค่ 2 แสนตันเศษเท่านั้นยังไม่เข้าเกณฑ์เป้าหมาย ยังห่างค่อนข้างมาก การที่โรงสีจะนำรายชื่อเกษตรกรชาวนาสวมสิทธิ เป็นไปได้ยากมาก เชื่อว่าทุกโรงสีใน จ.พิจิตร พร้อมจะให้ตรวจสอบอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าว จ.น่าน รายงานความคืบหน้าโครงการจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีปัญหาไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรว่า กลุ่มเกษตรกรจาก อ.ภูเพียง และ อ.เวียงสา กว่า 70 คน ขอคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดน่านที่ศาลากลางจังหวัดน่าน ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจัดคิวเข้าโครงการจำนำข้าวโพดรอบสอง จ.น่าน ได้โควต้า 31,943 ตัน เฉลี่ยให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยเกษตรกรหลายรายที่ได้รับบัตรคิวไป แต่ขายผลผลิตไปก่อนหรือมอบสิทธิให้กับพรรคพวก สงสัยว่าเกษตรกรเหตุใดให้สิทธิกับผู้ประกอบการค้าข้าวโพดได้รับสิทธิ์ออกใบประทวน ทำให้เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เดือดร้อน ต่อมา นายเรืองเดช จอมเมือง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)น่าน ในฐานะผู้ประสานงานสมาพันธ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจ.น่าน มารับฟังปัญหาและระบุว่า สาเหตุเพราะเกษตรกรส่วนหนึ่งยอมให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพด จากการตรวจสอบพบดำเนินคดีไปแล้วหลายราย จึงอยากให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างเข้มงวดและนำส่วนแบ่งมาเฉลี่ยให้เกษตรกรที่เหลือ

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย มาชี้แจงกลุ่มเกษตรกรว่า ปัญหาโครงการจำนำข้าวโพด ตามมติของคณะกรรมการแก้ไขผลผลิตเกษตรกร จ.น่าน ให้สิทธิกับคนที่เอาข้าวโพดไปฝากที่โกดังเพื่อรอออกใบประทวนแต่ไม่ทันในรอบแรกก่อน 1,369 ราย หรือผลผลิต 21,254 ตัน ให้เกษตรกรจำนำข้าวโพดคนละ 11 ตัน หรือมูลค่าคนละไม่เกิน 100,000 บาท เพราะฉนั้นทางสมาพันธ์ผู้ปลูกข้าวโพดและเกษตรกรต้องไปตรวจสอบว่าในจำนวน 21,254 ตันที่เกิน 100,000 บาทมีกี่อยู่ราย แล้วเอาส่วนนี้กระจายให้เกษตรกรรายอื่นๆ ส่วนที่เหลือจากสิทธิได้คิวดังกล่าวคาดว่าไม่เพียงพอ ขอให้จ.น่านทำหนังสือขอขยายโครงการจำนำรอบที่ 3 อีก เพราะมีความจำเป็นตามมติคณะรัฐมนตรีบอกไว้ โดยตนจะรับภาระไปประสานงานขอเพิ่มจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าโควต้าจำนำข้าวโพดรอบ 2 นี้ จ.เพชรบูรณ์ และจ.ตาก ถูกตัดสิทธิไม่ได้รับส่วนแบ่งด้วย เนื่องจากลักไก่จำนำไว้ในรอบแรก ที่จ.ตาก กว่า 200,000 ตัน และจ.เพชรบูรณ์ 130,000 ตัน แต่ยังมีผลผลิตเหลืออยู่และรอเข้าโครงการจำนำรอบใหม่อีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook