ม.หอการค้าออกแถลงการณ์ค้านพ.ร.บ.นิรโทษ

ม.หอการค้าออกแถลงการณ์ค้านพ.ร.บ.นิรโทษ

ม.หอการค้าออกแถลงการณ์ค้านพ.ร.บ.นิรโทษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



ม. หอการค้า ออกแถลงการณ์ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษ

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม พร้อมข้อเสนอในทางกฎหมายทางคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาล และฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาหาทางออกอย่างรอบคอบและยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง และขอยืนยันคัดค้านมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มุ่งหมายล้างผิดคดีอาญาต่อมนุษยชาติและทุจริตคอร์รัปชั่น และเน้นยํ้าจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับมนุษยชาติและทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด
.......................................


แถลงการณ์ของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 
เรื่อง คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม 

 _____________________ 

  ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. …. (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ซึ่งได้มีการแปรญัตติเพิ่มเติมในมาตรา 3 ให้ครอบคลุมผู้กระทำความผิดในทางอาญา และคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ทำให้มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาต่อมนุษยชาติ(Crime Against Humanity) และทุจริตคอรัปชั่นนั้น คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเห็นว่า การนิรโทษกรรมดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อสังคมไทย เนื่องจากจะทำให้เกิดทัศนคติและค่านิยมที่ผิด ว่าการละเมิดต่อเสรีภาพต่อร่างกายและชีวิตของประชาชนพลเมือง รวมทั้งความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ อันมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมที่ปล่อยคนกระทำผิดลอยนวล (Culture of Impunity) อันเป็นการบ่อนทำลายรากฐานของเศรษฐกิจไทยและลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในระยะยาว ไม่สอดคล้องกับการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการร่วมกับภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่นักศึกษาให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสรุปความเห็นได้ดังนี้  

1 หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลต่อการจัดอันดับความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ รวมทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงขัดแย้งกับอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC2003) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันในการเข้าเป็นภาคีไว้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งจะส่งผลให้ขาดการยอมรับและความน่าเชื่อถือจากนานาอารยประเทศ

2. การลบล้างความผิดตามมาตรา 3 ทั้งหมด จะทำให้ผลของคดีอาญาต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) และทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ทั้งที่มีการตัดสินคดีแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมดซึ่งเป็นการล่วงละเมิดกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และไม่เป็นธรรมแก่คดีอาญาและทุจริตคอร์รัปชั่นอื่น ๆ ที่มิได้อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาล และฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยพิจารณาหาทางออกอย่างรอบคอบ และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง และขอยืนยันคัดค้านมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มุ่งหมายล้างผิดคดีอาญาต่อมนุษยชาติและทุจริตคอร์รัปชั่น และเน้นยํ้าจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับมนุษยชาติและทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องและสร้างความยุติธรรม ในสังคม บรรลุผลสำเร็จอันเป็นประโยชน์ร่วมของคนไทยทั้งประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป 

คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


-------------------------------------------------------------------------------------
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook