หนังไทยปี ชวด คุณภาพลด หนังเล็กรอด ฟอร์มใหญ่มึน

หนังไทยปี ชวด คุณภาพลด หนังเล็กรอด ฟอร์มใหญ่มึน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มุมมองของสองนักวิจารณ์เก่งๆ นี้ อาจจะใช้ได้กับบางพื้นที แต่มันใช้ไม่ได้เลยกับตลาดหนังไทยในสังคมไทย ใช้ไม่ได้ เพราะไม่เคยมีสูตรสำเร็จตายตัวในการได้เงินแน่นอน ไม่ว่าดาราคนนั้นจะเคยเป็นตัวเงินตัวทองมาก่อน หรือหนังแนวนั้นแนวนี้จะกำลังอินเทรนด์ ใครไม่เชื่อ ขอให้ดูหนังไทยแถวๆ 47 เรื่องของปี 2551 นี้

มาริโอ เมอเร่อ ไม่ได้พาหนังทุกเรื่องที่เขาไปรอด บางเรื่องได้เงินมาก บางเรื่องไม่ได้เงิน, หนังตลกเน้นแมสฯ ที่ว่าตีหัวเข้าบ้านได้ง่ายที่สุด ปีนี้สลบไปหลายเรื่อง (แต่ยังคงไม่ตื่น เลยไม่ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ รายได้)

// //

บางคนว่าหนังฟอร์มใหญ่ฟอร์มยักษ์ จะให้คนไทยออกมาดูกันแน่ๆ แต่อาการเจ็บตัวหนักของ ปืนใหญ่จอมสลัด ที่ว่าลงทุนไป 300 ล้าน หรือแม้แต่รายได้ 93 ล้าน ของ องค์บาก 2 ถ้ามองว่าใช้เงินสร้างไป 200 กว่าล้านบาท ถือว่าไม่ใช่งานประสบความสำเร็จทั้งคู่ ไม่ว่าจะมองจากตัวภาคแรก หรือชื่อชั้นจากทีมงาน

มุมมองเหล่านี้อาจจะใช้วัดอะไรไม่ได้มาก แต่ทัศนะหนึ่งที่จริงกว่าก็คือ หนังไทยปีชวดนี้ ออกไปทาง ชวด มากกว่า ไม่ชวด และที่จริงกว่าทุกข้อก็คือ ไม่ต้องมีอคติต่อหนังไทย ใครก็ทราบดีว่า หนังไทย 47 เรื่อง (ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้นัก) มีคุณภาพจริงๆ หรือพูดได้ว่าเป็นหนังดีที่น่าพอใจจริงๆ ไม่ถึง 20 %

สิ่งที่แตกต่างและเห็นได้ก็คือ ช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา (2549-2551) นั้น ปริมาณของหนังไทยที่ออกฉาย อยู่ในตัวเลขที่สูสีไล่เลี่ยกัน ทว่า คุณภาพของหนังไทย ลดลงกว่าสองปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ยังมีหนังไทยในกระแสหลายเรื่องที่ใช้รูปแบบตีหัวเข้าบ้าน เพราะจำมาจากปีก่อนๆ ว่า หนังตลกหรือหนังผีนั้น ถ้าเล่าเรื่องแบบหนึ่ง ใช้นักแสดงตลก ผสมกับคำหยาบที่ เน้นจังหวะจะโคน สูตรแบบนี้ทำเงินได้ในระดับหนึ่ง

คนดูบ้านเรานั้น ได้เกิดการพัฒนาขึ้นและปฏิเสธหนังแบบนี้ พฤติกรรมใหม่ๆ ที่น่าสังเกตก็คือ คนที่จะดูหนังไทยนั้น มีความรอบคอบในการเข้าหาสินค้ามากขึ้น จากแนวคิดแบบนี้ งานที่จะได้รับความสนใจ จึงอยู่กับหนังขนาดกลางและเล็ก ที่กล้าจะเสี่ยง หนังในกลุ่มนี้ อาทิเช่น เมมโมรี่ รักหลอน, สบายดี หลวงพะบาง, ดรีมทีม, แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ งานกลุ่มนี้ มีโจทย์ที่ไม่ได้เหมือนกับการบ้านซึ่งคิดมาแล้วพอสมควรอย่าง สี่แพร่ง กับ ฝันหวานอายจูบ สำหรับการ เข้าหารายได้

ไม่ได้บอกว่า หนังกลุ่มไหนดีกว่ากัน แต่หมายความว่า วิธีการของหนังกลุ่มแรก อาจจะมีทางออกใหม่ๆ สำหรับตลาดหนังไทย ที่ดูตีบตัน

ถ้าจะมีอะไรที่ดีที่สุดในสายตาของผู้เขียนสำหรับปีนี้ สิ่งนั้นก็คือ พื้นที่ของหนังนอกกระแส ที่ลองกับแนวทางใหม่ๆ สำหรับคนทั่วไป เช่น งานฟิล์มนัวร์อย่าง แปดวัน แปลกคน (จากเอเจนซี่แห่งหนึ่ง) wonderful town ของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ซึ่งได้ทุนจากเทศกาลหนัง(ถ้าข้อมูลไม่ผิด) หรือ แม้แต่ สบายดี หลวงพะบาง ซึ่งว่ากันว่า ได้เงินสร้างมาจากนายทุนคูโบต้าหรือคนทำการเกษตร ทั้งยังเป็นหนังไทยลาวเรื่องแรกๆ ในรอบหลายปี

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงว่า คนไทยพร้อมจะให้โอกาสหนังไทยทุกเรื่องถ้ามันน่าสนใจจริงๆ พยานปากเอกก็คือ ดรีมทีม และ เมมโมรี่ รักหลอน หนังทั้ง 5 เรื่องที่ยกมา ถ้าไม่ได้เงิน ก็ได้กล่องหรือคำวิจารณ์ที่ดีจาก คอหนัง

ผู้สร้างหนังบางท่านแสดงมุมมองว่า อาจจะต้องใช้แนวทางใหม่ๆ ในการเรียกคนดูให้กับหนังไทย แต่ถ้ามองภาพรวมอย่างจริงๆ จังๆ ในปีนี้ เราจะพบว่า แนวทางไม่ใช่สิ่งที่ต้องใส่ใจนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างเนื้อหาและนำเสนอตัวละครอย่างไร เนื่องเพราะมากกว่า 50 % ของหนังไทยปีนี้ ล้วนมีแคแรกเตอร์ที่ไม่ปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นหม่ำเดียว หัวเหลี่ยมหัวแหลม, กอด, ช็อคโกแลต, เทวดาท่าจะเท่ง, เมมโมรี่ รักหลอน, โลงต่อตาย, คนไฟลุก, ลองของ 2, ปืนใหญ่จอมสลัด, โปรแกรมหน้าฯ, หรือบทของ โทนี่ จา ในองค์บาก 2 ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า ระหว่างหนังขนาดเล็กและกลาง ทุนไม่มาก กับภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ลงทุนหลายร้อนล้านนั้น งานในกลุ่มแรกชนะและสร้างรายได้โดยเฉลี่ยมากกว่าหนังกระทืบโรง คำตอบแบบนี้ ไม่ได้เกิดกับบ้านเราเท่านั้น เพราะแม้แต่บาบิโลนแห่งอุตสาหกรรมหนังอย่าง ฮอลลีวู้ด ก็เป็นแบบนี้มา 3-4 ปีแล้ว เฮนรี่ ทราน เคยบอกกับผู้เขียนว่า เดี๋ยวนี้การประเมินคาดหวังตัวเลขรายได้เปลี่ยนไปมากจากยุคก่อน

สมัยก่อน เราอาจจะหวังรายได้ 100 ล้านได้เรื่อยๆ จากหนังใหญ่ แต่หลังๆ นี้ ถ้าหนังเทศเรื่องหนึ่งได้เงินถึง 30 ล้าน ก็นับว่าน่าพอใจแล้ว

มีภาพเปรียบเทียบจากมุมมองที่น่าสนใจของคุณ เฮนรี่ ทราน อย่างหนึ่งก็คือ ขณะที่หนังเทศดร็อปลงไป สิ่งที่น่าดีใจกับคนทำหนังไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวเลขแชร์ในตลาดหนังไทยรวม เพิ่มมากขึ้น ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แม้แต่บอสส์ค่ายเมเจอร์ฯ อย่างคุณ วิชา พูลวรลักษณ์ เองก็เคยบอกกับผมในงานเปิดตัว Batman ว่า หนังไทยโดยรวมแชร์ตลาดมาจากหนังเทศได้พอสมควร อย่างน้อยก็ 40 % ขึ้นไป

ถามว่า แล้วหนังไทยปีฉลู จะมีโอกาสฉลุยมั้ย ? มองแบบหวังดี (ไม่ประสงศ์ร้าย) หนังไทยมีโอกาส สร้างเนื้อสร้างตัว ทุกปี ในประเทศที่โจรยังมานั่งออกทีวี ให้สัมภาษณ์ได้ ในประเทศที่ใครๆ ก็ปิดสนามบิน หรือลุกขึ้นมาปิดถนนได้ ทำไมหนังไทยจะไม่มีอนาคตล่ะ ?

4 ปีก่อน บอสส์ที่มี sense เรื่องการตลาดสูงมากที่สุดของบ้านเรา คือ คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ แห่งค่าย GTH เคยให้สัมภาษณ์ผมในงาน จุดประกาย-สัมมนา ที่ชั้น 5 ตึกเนชั่นว่า แนวทางที่หนังได้เงินในปีนี้ คือ สัตว์-เซ็กส์-กะเทย-ผี เป็นไปได้ว่า meaning หรือความหมายของมัน ได้เดินทางไปอีกพื้นที่หนึ่งแล้ว น่นหมายความว่า สัตว์ ก็ไม่ใช่การขายความตื่นเต้นโหดร้าย แต่อาจจะขายความน่ารักของสัตว์แทน (จับตาดูน้องหมาให้ดี เพราะมีกิจกรรมเพียบในการพาน้องหมาไปดูหนังแล้ว หนังหมาๆ แบบมะหมา 4ขา ครับ ทำไมจะไม่มีอีก)

เซ็กส์ ก็อาจจะไม่ใช่หนังโชว์หว่างขา หรือหนัง น้องสาวทำกระชับ แต่อาจจะโชว์ความ sexy ของนักแสดงใหม่ๆ แทน ส่วนหนังกะเทยนั้น เอ้าท์ไปเรียบร้อยแล้ว (รวมทั้งเกย์ด้วย) เพราะผู้กำกับหรือคนทำหนัง เข้าใจผิดๆ ไปเองด้วยการตีความตื้นเขินว่า หนังกะเทยคือแบบนี้ หนังเกย์คือแบบนี้ ใครไม่เชื่อ ลองไปถาม ฮีด เลดเจอร์ ใน Brokeback Mountain กับ โกยเถอะเกย์ ดู (ฮา)

มาถึงคอนเซ็ปต์สุดท้ายคือ ผี จะเห็นได้ว่า จากหนังที่ได้เงินปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมหน้าฯ หรือ สี่แพร่ง นั้น จุดที่ทำให้ตัวหนังได้เงินนั้น ไม่ใช่พล็อตที่ขายผี แต่เป็นเพราะความชาญฉลาดของทีมงาน ที่รู้จักขาย ความตื่นเต้นสุดขีด ที่ปรากฏบนจอหนัง

วิธีคิดแบบนี้ ไปตรงกับแนวการตลาดยุคใหม่ในตะวันตก ที่เน้นไปที่อารมณ์สุดขีดของคนดู ไม่จะเป็นหมาแมวหรือผีสาง กระทั่งคนปกติ ถ้าตัวหนังสามารถดันอารมณ์คนดูไปถึงจุดนั้นได้ วัฒนธรรมปากต่อปากจะเกิดขึ้นเอง

นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ในจักรวาลของหนัง เพราะคนที่ใช้คนแรกและเก่งมากก็คือ จอร์จ ลูคัส กับ star wars ก่อนที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จะทำตามบ้างกับ Jaws โดยลอกเลียนความตื่นเต้นมาจาก The Birds ของ อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก (โดยเฉพาะสูตรการปรากฏตัว)

ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่สะสมประสบการณ์จากการดูหนังแปลกๆ เยอะของผู้กำกับ GTH บางที อาจทำให้พวกเขาได้เปรียบในเรื่องวิธีคิดสำหรับหนังแนวนี้ (แม้ว่า จะไม่ใช่ทุกเรื่องที่คิดเองแน่นอน)

เขียนมาถึงตรงนี้ ใครบางคนคงมีคำถามว่า ท่ามกลางหนังไทยที่ยังมีความหวัง สมหวังและผิดหวังนั้น ในหนังเกือบ 50 เรื่องปีชวดนั้น มีหนังเรื่องไหนบ้างที่ดี ผมขอตอบในความเห็นของผม คนเดียวเท่านั้น (และทุกท่านมีสิทธิ์มองแย้ง เห็นแตกต่างไปตามพ.ร.บ.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) แสงศตวรรษฯ ฉบับเต็ม, ดรีมทีม, Wonderful Town, สี่แพร่ง, แปดวันแปลกคน และ เมมโมรี รักหลอน คือหนังไทย 5-6 เรื่อง ที่ดีของปีนี้

ส่วนเรื่องที่เลวร้ายที่สุด ขอยกให้ การยึดโทรศัพท์มือถือ สื่อมวลชนหน้าโรงหนัง ขอประณามว่า คุณไม่ให้เกียรติและเลวมาก อธิบายได้ว่า ตอนเชิญก็เขียนมาว่า ผู้มีเกียรติ แต่พอไปถึงหน้าโรง ปฏิบัติแก่เขา ราวเป็นโจร อันนี้ไม่ได้หมายถึงค่ายไหน แต่หมายถึงทุกค่ายที่ทำ !!!

และปีที่ผ่านมา เริ่มเกิดเทรนด์ นักวิจารณ์หลายคนที่เขียนหนังสือหลักๆ ไม่มาดูหนังรอบสื่อแล้ว (เป็นระยะๆ)

อย่างไรก็ตาม จะวิจารณ์ติชมกันแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่คม ชัด.ลึก-บันเทิง กระทั่งทุกพื้นที่ของผู้เขียนในเล่มอื่นๆ ล้วนปรารถนาดีก็คือ ขอให้คนทำหนังดี ผู้สร้างหนังคุณภาพ ได้รับสิ่งที่ดีจากการทำงานของตัวเอง

ขอให้ทุกท่าน ทั้งคนสร้างและผู้ชม มีสุขภาพที่แข็งแรง สวัสดีปีใหม่ 2009

นันทขว้าง สิรสุนทร

giengi@yahoo.com )

อาถรรพณ์นรกซานติก้า ที่ดินนี้มีตำนาน...เลือด!!!

จากที่ดินทำเลทองย่านเอกมัย เพียงชั่วข้ามคืนของวันแรกที่ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2552 กลับกลายเป็นสุสานของเหยื่อเพลิงนรก นำมาสู่การผูกโยงถึงความเชื่อของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับ สุสานซานติก้าผับ ด้วยความหวาดผวา และบอกเล่าถึงเรื่องราวอาถรรพณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงลางร้ายบอกเหตุที่อาจจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook