หนังจอกว้าง - ความสุขของกะทิ ละไมเมียดแห่งภาพเคลื่อนไหว

หนังจอกว้าง - ความสุขของกะทิ ละไมเมียดแห่งภาพเคลื่อนไหว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
น่าจะมีคนไทยนับล้าน ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับความงามจากงานวรรณกรรมที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ อาศัยอยู่กับตายายที่บ้านริมคลองในอยุธยา จนกระทั่งวันหนึ่งคุณตาเอ่ยปากชักชวนไปเยี่ยมแม่ซึ่งนอนป่วยที่บ้านชายทะเล การเดินทางไกลครั้งนี้นอกจากหนูน้อยจะได้รู้จักคุณลุงคุณอาใจดีเพิ่มขึ้นแล้ว เธอยังต้องเผชิญกับชะตากรรมอันเศร้าสลดของผู้เป็นแม่ ก่อนที่สุดท้ายผู้ใหญ่ทุกคนจะปล่อยให้เธอตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตต่อไปด้วยตัวเอง นี่คือเรื่องราวโดยย่นย่อของ ความสุขของกะทิ

// //

ซึ่งจนถึงขณะนี้ น่าจะได้รับการตีพิมพ์เฉียดๆ ล้านเล่มเข้าไปแล้วล่ะครับ และหากเสน่ห์ของวรรณกรรมอยู่ที่ความเรียบง่ายของภาษา ที่ประดับประดาไปด้วยสิ่งงดงามของวิถีชีวิตแบบไทยๆ แม้เรื่องราวจะไม่สลับซับซ้อนย้อนยอก แต่ตลบอบอวลไปด้วยความรักที่ตัวละคนมอบให้แก่กัน ผู้ร้ายในเรื่องดูจะมีก็แค่โชคชะตาที่มาสะกิดให้หนูน้อยรู้จักกับความระทมทุกข์ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อ ความสุขของกะทิ ถูกแปรรูปมาอยู่ในศาสตร์ของภาพยนตร์

ภาพเฟรมแรกปรากฏขึ้นบนจอ กล้องก็ทำหน้าที่แทนสายตาผู้ชม กวาดสายตาเรื่อยไล่ผ่านทะลายมะพร้าวกองโต หมู่มวลพืชผักและอาหารคาวหวาน เคลื่อนต่อไปอย่างไหลลื่นยังกลุ่มควันไฟกรุ่นจากเตา เห็นคุณยายงุ่นง่วนกับการทำอาหาร ที่จบลงด้วยภาพไข่เจียวฟูๆ ดูน่ากิน ก่อนจะตะโกนเรียกหลานสาวให้มาเตรียมอาหารสำหรับใส่บาตร หลังจากที่คุณตาไปรอท่าอยู่ก่อนหน้า ณ ศาลาริมน้ำ...สองตาหลานยืนรออยู่ชั่วครู่เรือพายของหลวงตา โดยมีเด็กวัดนั่งแจวอยู่ท้ายเรือ ก็เคลื่อนมาเทียบชานบันได คนทั้งหมดเอื้อนเอ่ยโอภาปราศรัยอันเต็มไปด้วยมิตรไมตรีต่อกัน

นี่คือการแสดงความเคารพต่อบทประพันธ์ ความสุขของกะทิ อันดับแรกของหนังเรื่องนี้ครับ นั่นก็คือการพยายามรักษาบรรยากาศเรียบง่าย แต่อบอุ่นและงดงาม แม้งานด้านภาพจะดูปรุงแต่งไปบ้าง หากแต่กลับรู้สึกถึงความประดิดประดอยค่อยบรรจง ทั้งเพื่อรับใช้เนื้อหา เพื่อรักษาบรรยากาศหรือการคุมโทนของหนังให้เป็นองก์รวมเดียวกัน ที่สำคัญเพื่อสื่อให้เห็นความงามที่อยู่รายรอบตัวเด็กหญิงกะทิ ผู้มีความสุขจากคนรอบข้าง และอาจรวมไปถึงมวลอากาศรอบตัว ในขณะที่การลำดับภาพก็เป็นไปเนิบช้า การตัดภาพแบบน้อยคัท เพื่อลำดับเรื่องราวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการใช้ประโยคจากต้นฉบับวรรณกรรมเข้ามาเพื่ออธิบายปมในใจของเด็กน้อย (ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่เคยแสดงออกมาระหว่างอยู่กับตายายในบ้านริมคลอง) ไม่ว่าจะเป็น แม่ไม่เคยสัญญาจะกลับมา กะทิรอแม่ทุกวัน ไม่เคยมีใครพูดถึงแม่ กะทิจำหน้าแม่ไม่ได้แล้ว ฯลฯ เช่นเดียวกับการแสดงของแต่ละคน ทุกอย่างในหนังล้วนเป็นไปในแบบ Minimalism คือการแสดงออกแต่น้อยอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งกลับได้ผลมากสำหรับความรู้สึกที่สะท้อนมายังผู้ชม ตั้งแต่บทของคุณตาโดยสะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์ ผู้ที่คอหนังรุ่นเก่าตั้งฉายาให้ว่าเป็น คล้าค เกเบิ้ล เมืองไทย คุณลุง ไว้ลายความเป็นนักแสดงมากฝีมือให้ประจักษ์หลายต่อหลายฉาก (อันที่จริงเกือบจะทุกฉากที่มีคุณลุงปรากฏตัวอยู่) ทั้งความเป็นคนขี้เล่นและน้ำเสียงอ่อนโยนทุกครั้งเมื่อพูดกับหลานสาว หรือถึงคราวที่ต้องปกปิดความรู้สึกพลัดพรากที่ใกล้เข้ามาในฉากที่ลุกขึ้นกล่าวกลางโต๊ะอาหารที่บ้านริมทะเลด้วยน้ำเสียงสั่นเครือในต้นประโยคก่อนจะพยายามสะกดน้ำเสียงให้กลับมาเป็นปกติต่อหลานสาว นี่คือการแสดงชั้นครูที่แทบจะหาดูได้ยากเต็มทีสำหรับนักแสดงบ้านเรา เช่นเดียวกับหนูน้อย ภัสสร คงมีสุข ที่ธรรมชาติในความเป็นเด็กของเธอ สามารถเชื่อมโยงไปกับการแสดงได้อย่างแนบเนียน เป็นนักแสดงในแบบ Personality Actor ที่ดูมีอนาคตไกล (หากเธอต้องการเดินทางสายนี้) เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ ทั้งรัชนก แสงชูโต ในบทแม่ และ เข็มอัปสร สิริสุขขะในบทน้าฎา ที่รู้จักวางตำแหน่งการแสดงของตัวเองได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่เอ่อล้น ฟูมฟาย ทั้งๆ ที่สองคนนี้เติบโตมาจากละครทีวีที่มักให้การแสดงเกินจริงในแบบ Overacting มากๆ

องค์ประกอบทั้งหมดในหนังล้วนเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกันในการรักษาความเรียบง่ายแต่งดงามอันเป็นลักษณะเด่นของวรรณกรรม แม้หนังสามารถที่จะเลือกเล่าในลีลาแบบเมโลดราม่าบีบน้ำตา คั้นอารมณ์สะเทือนใจกว่านี้ก็ย่อมได้ แต่การเลือกที่จะรักษาระยะห่างระหว่างผู้ชมกับเรื่องราวและตัวละคร เพื่อปฏิเสธที่จะโน้มน้าวให้คล้อยตาม หากแต่พยายามใช้รายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยของบรรยากาศคอยประคับประคอง แล้วปล่อยให้คนดูตระหนักรู้จากเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าด้วยตัวเอง โดยไม่ชี้นำ คือการให้เกียรติอย่างยิ่งในฐานะคนทำงานศิลปะที่มีต่อผู้เสพ และในกรณีนี้อาจรวมถึงเจ้าของบทประพันธ์

ในมุมมองจากคนดูหนัง ความสุขของกะทิ คนหนึ่ง สิ่งที่ได้รับกลับมาบ้าง น่าจะเป็นเรื่องของอุดมคติและทัศนคติครับ อุดมคติที่ว่านี้คือการมองโลกในแง่ดี เต็มไปด้วยสายตาอันบริสุทธิ์ เพราะนอกจากเราจะได้เห็นหนูน้อยรายล้อมไปด้วยผู้คนอันเป็นที่รักและรักเธอแล้ว แม้แต่สังคมของกะทิก็อบอวลไปด้วยความรักและปรารถนาดีไม่แพ้กัน ทั้งเพื่อนๆ ที่โรงเรียน พี่ทองเด็กวัด หรือชาวบ้านย่านริมคลองในละแวกบ้านคุณตาก็ตาม แม้โลกในอุดมคติแบบนี้ไม่มีอยู่จริง แต่เราก็อยากให้เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ไม่ใช่เหรอ และอย่างน้อยอิทธิพลจากหนังหรืออาจรวมถึงวรรณกรรม ความสุขของกะทิ ก็ได้ปรับทัศนคติการมองโลกในมุมอันรื่นรมย์ให้เกิดแก่ตัวผมบ้าง เพราะทุกวันนี้เรารับรู้เรื่องราวโหดร้ายมากมายในสังคมมากเกินพอ แม้ความงามที่เรียบง่ายที่ได้รับจาก ความสุขของกะทิ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็น ความปรีด์เปรมเกษมสันต์ของกระผม ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ครับ

ชื่อเรื่อง : ความสุขของกะทิ / The Happiness of Kati

ผู้เขียนบท : งามพรรณ เวชชาชีวะ, เจนไวย์ ทองดีนอก

ผู้กำกับ : เจนไวย์ ทองดีนอก

นักแสดง : ภัสสร คงมีสุข, สะอาด เปี่ยมพงษ์ศานต์, จาวุวรรณ ปัญโญภาส, รัชนก แสง-ชูโต, เข็มอัปสร สิริสุขขะ, ไมเคิล เชาวนาศัย, นิธิศ โค้วสกุล

วันที่เข้าฉาย : 8 มกราคม 2552

ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

ภูมิใจไทย:ก้าวสำคัญของเนวิน

การเมืองแบบไทยๆ อะไรๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ฟัดกันแทบจะตายกันไปข้าง วันหนึ่งก็อ้าขาผวาปีกเข้าหากันได้อย่างไม่เคอะเขิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook