ผู้บริโภคเฮ! ใช้สิทธิพ.ร.บ.ฉบับใหม่ เรียกค่าเสียหายสินค้าไม่ปลอดภัย

ผู้บริโภคเฮ! ใช้สิทธิพ.ร.บ.ฉบับใหม่ เรียกค่าเสียหายสินค้าไม่ปลอดภัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

// //

ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง ในการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่เรียกว่า สินค้าไม่ปลอดภัย ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

นายธีรวัฒน์ จันทรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงที่มาของกฎหมายฉบับนี้ว่า เกิดจากการผลิตสินค้าในปัจจุบันมีการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องการสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้บริโภคเอง เดิมทีการฟ้องร้องคดีประเภทนี้จะมีความยุ่งยาก เนื่องจากภาระในการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นๆ ไม่ปลอดภัยจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดของสินค้า

ในส่วนของผู้ประกอบการ กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ว่าจ้างผลิต ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในสินค้าตัวสำคัญ หรือผู้ผลิตวัตถุดิบในสินค้าที่ผลิตขึ้นมาใหม่ เป็นต้น เมื่อผู้ใช้สินค้าได้รับความเสียหาย และได้พิสูจน์เบื้องต้นแล้วว่า ได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการ อันเกิดจากการใช้สินค้าตามปกติ ผู้ประกอบการทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน จากเดิมผู้ที่รับหน้าทั้งหมดจะเป็นด่านหน้าคือผู้ขายสินค้าเท่านั้น

ทั้งนี้ การรับผิดชอบร่วมกันของผู้ประกอบการสินค้านั้น จะต้องพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการบกพร่องในกระบวนการผลิต หรือบกพร่องในกระบวนการกำหนดสเปกในการออกแบบ หรืออาจจะเป็นการแจกแจงฉลากไม่ครบถ้วน โดยไม่เน้นการเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่ได้ขายสินค้าไปให้ผู้บริโภคแล้ว เช่น การนำเข้าสินค้า ยา ผู้นำเข้าเองอาจจะตกม้าตายในเรื่องการอัพเดท ข้อมูลก็เป็นได้ หากในต่างประเทศเผอิญมีการพิสูจน์ได้ว่า ยาตัวนั้นไม่ปลอดภัยสำหรับผู้เป็นโรคบางอย่างและได้ประกาศเตือนออกมา แต่ผู้นำเข้าไม่มีการติดตามข้อมูลส่วนนี้ ก็อาจจะกลายเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยได้

ส่วนเรื่องความเสียหายนั้น นายธีรวัฒน์อธิบายว่า ในกฎหมายได้เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นความเสียหายถึงชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย แต่จะไม่รวมความเสียหายต่อตัวสินค้า เช่น หากซื้อน้ำดื่ม แต่เห็นสิ่งสกปรกก่อนที่จะดื่มน้ำเข้าไป ถือว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยที่บกพร่องจากกระบวนการผลิต แต่ยังไม่เกิดความเสียหายต่อผู้ดื่ม จึงถือเป็นการบกพร่องธรรมดาและอยู่ภายใต้กฎหมายทั่วไป มีอายุความ 1 ปี แต่ในกรณีที่ผู้ซื้อกระหายน้ำมาก เมื่อซื้อมาแล้วดื่มเข้าไปทันทีและอาเจียนออกมาทันที ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว จึงใช้กับกฎหมายฉบับใหม่นี้ เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย โดยผู้ผลิตทั้งหมดรวมไปถึงผู้ว่าจ้างผลิตจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เมื่อเกิดความเสียหายต่อจิตใจ ผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องเพิ่มได้อีก ซึ่งหมายถึงความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน ความอับอายขายหน้า แต่การจะเป็นความเสียหายต่อจิตใจได้นั้น จะต้องมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อร่างกายเสียก่อน เช่น เมื่อขับรถยนต์ที่มีถุงลม เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนและพิสูจน์ได้ว่าถุงลมไม่ทำงาน ผลคือผู้ขับซี่โครงหัก ส่วนความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานจากการผ่าตัด คือความเสียหายต่อจิตใจ ในส่วนนี้ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยถึงความเสียหายที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องชดใช้แก่ผู้ได้รับความเสียหาย ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายเสียชีวิตแล้ว ญาติก็มีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายได้

การพิสูจน์ตรวจสอบสินค้าถือเป็นเรื่องสำคัญ สคบ.จึงมีมติตั้งคณะกรรมการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีห้องแล็บเอกชนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การรับรองไว้แล้ว 153 แห่ง จะเป็นเครือข่ายร่วม โดยจะมีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญเป็นใคร และเชี่ยวชาญในสินค้าใด ซึ่งทั้งหมดจะมีการทำงานเชื่อมโยงกันกับศาล เพราะปัจจุบันตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น ศาลมีอำนาจในการมีบทบาทแสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคู่กรณีแล้ว นายธีรวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาระในการพิสูจน์สินค้าไม่ปลอดภัยจะเป็นของผู้ประกอบการ โดยสามารถเสนอต่อศาลให้ใช้แล็บใดพิสูจน์ได้ หากศาลตรวจสอบว่าเป็นแล็บที่เป็นกลางจริง ศาลก็จะให้ใช้ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด แต่เมื่อพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินค้าปลอดภัย ผู้ประกอบการจะฟ้องกลับต่อผู้บริโภคได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยังมี 2 แนวคิด คือ จากกฎหมายฉบับนี้ได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในการตรวจสอบพิสูจน์อยู่แล้ว เว้นแต่เจตนาของผู้บริโภคไม่สุจริต ส่วนเมื่อพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินค้าปลอดภัย การที่ผู้ประกอบการจะฟ้องกลับได้หรือไม่ เรื่องนี้กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร ถ้าพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคที่ใช้สิทธิมีเจตนาไม่สุจริตจริง

สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้นไปอีก คือ ขณะนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้แล้วว่าจะเข้าไปเรียกร้องที่ สคบ. หรือจะเดินเข้าไปพบเจ้าพนักงานที่ศาลเองตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ถือเป็นความสะดวก และผู้บริโภคก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วย ผู้ทำหน้าที่ในการเขียนคำฟ้องร้องจะเป็นเจ้าพนักงานคดีของศาล แต่ผู้ที่จะไปฟ้องที่ศาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยจริงๆ จากนั้นศาลจะทำหน้าที่ในการสอบข้อเท็จจริง และฟังความทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการหาพยานหลักฐานมาดูด้วยตนเอง

ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สคบ. กล่าวว่า ในส่วนของ สคบ.ได้เตรียมการรองรับกฎหมายฉบับนี้ไว้แล้ว โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทดสอบ หรือพิสูจน์สินค้า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์และตรวจสอบสินค้าจากหลายแห่งทั้งจากภาครัฐและเอกชน เข้ามาเป็นเครือข่าย สิ่งสำคัญที่สุด คือ เตรียมการแยกแยะเรื่องร้องเรียนต่างๆ เพราะหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่าจะมีการร้องเรียนเข้ามามาก ดังนั้น จึงเตรียมอบรมเจ้าหน้าที่ในการแยกแยะเรื่องร้องเรียน เพื่อกลั่นนกรองก่อนที่จะไปถึงกระบวนการของศาล โดยจะฟังข้อเท็จจริงจากผู้บริโภคก่อน จากนั้นจะเรียกเจ้าของสินค้ามาคุย เพื่อเป็นการฟังความทั้งสองฝ่าย และเริ่มต้นที่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน

แม้ว่าผู้บริโภคจะเดินไปที่ศาลด้วยตัวเอง เหมือนกับเป็นการฟ้องร้องได้ง่ายก็จริง แต่ศาลจะเริ่มจากกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนเช่นกัน จึงเป็นความมั่นใจให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ว่าจะเป็นการฟังความทั้งสอง เพื่อให้ความเป็นธรรม นายธีรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

เห็นอย่างนี้แล้ว กฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ถือเป็นประโยชน์ของผู้บริโภคจริงๆ ในการรักษาสิทธิของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้ในตัวกฎหมายจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น แต่ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่บริสุทธิ์ใจเท่านั้น

อาถรรพณ์นรกซานติก้า ที่ดินนี้มีตำนาน...เลือด!!!

จากที่ดินทำเลทองย่านเอกมัย เพียงชั่วข้ามคืนของวันแรกที่ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2552 กลับกลายเป็นสุสานของเหยื่อเพลิงนรก นำมาสู่การผูกโยงถึงความเชื่อของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับ สุสานซานติก้าผับ ด้วยความหวาดผวา และบอกเล่าถึงเรื่องราวอาถรรพณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงลางร้ายบอกเหตุที่อาจจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook