เที่ยวปีใหม่เงินสะพัด 4 หมื่นล้าน

เที่ยวปีใหม่เงินสะพัด 4 หมื่นล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คนไทยมากสุดในรอบ 5 ปีแนะรัฐเพิ่มวันหยุดยาวอีก

นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ได้สำรวจภาวะการท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาว 5 วัน (31 ธ.ค. 51-4 ม.ค. 52) พบว่า คนไทยเที่ยวในประเทศสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา คาดว่าทำให้เกิดเงินสะพัด 40,000 ล้านบาท นอกเหนือจากที่ช่วงเวลาปกติการท่องเที่ยวในประเทศสร้างรายได้อยู่แล้ววันละ 1,000 ล้านบาทหรือทั้งปี 370,000 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุที่ปีนี้คนไทยเที่ยวไทยสูงมากช่วงหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มาจากปัญหาการเมืองคลี่คลาย, รัฐบาลเพิ่มวันหยุดให้, ต้นทุนด้านการท่องเที่ยวลดลง ทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการลดให้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และสภาพอากาศที่หนาวเย็น เหมาะแก่การท่องเที่ยว

ทั้งนี้การที่คนไทยท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะจะช่วยชดเชยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยน้อยลงช่วงไตรมาสแรกได้

ถือว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วที่กระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มวันหยุด และเห็นว่าควรสานต่อแนวทางนี้ในเทศกาลอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะช่วงปิดภาคการศึกษา ควรให้ผู้ปกครองมีวันหยุด เพื่อดึงกลุ่มครอบครัวให้ท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งปรับวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ให้มาอยู่ช่วงปลายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดวันหยุดต่อเนื่องควบรวมกับวันหยุดปกติเสาร์-อาทิตย์ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้โครงสร้างนี้กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

ก่อนหน้านี้บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า จะมีคนไทยเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกิดรายได้สะพัด 14,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% โดยอยู่กับธุรกิจที่พักแรม 4,100 ล้านบาท หรือ 28% ของรายได้รวม โดยเฉพาะโรงแรม รีสอร์ท ระดับ 2-3 ดาว รวมทั้งกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทต้นทุนต่ำที่ขยายตัวขึ้น รองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเที่ยวแบบประหยัดกันมากขึ้น ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ทั้งที่อยู่ในโรงแรมและร้านอาหารทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม 2,800 ล้านบาท หรือ 19%

สำหรับ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก ซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทอาหารพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่าง ๆ 2,000 ล้านบาท หรือ 14%, ธุรกิจด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งการบิน รถไฟ รถ บขส. และรถเช่า 2,000 ล้านบาท หรือ 14% เช่นกัน, ธุรกิจด้านบันเทิง รวมถึงบริการสปา และกีฬา 1,800 ล้านบาท หรือ 12% และ ธุรกิจบริการนำเที่ยวในประเทศ รวมทั้งมัคคุเทศก์ 1,200 ล้านบาท หรือ 8%.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook