นักเก็งกำไรยังเกลื่อนตลาดหุ้น ตลท.อึ้งคุณภาพมาร์เก็ตติ้งปัญหาใหญ่

นักเก็งกำไรยังเกลื่อนตลาดหุ้น ตลท.อึ้งคุณภาพมาร์เก็ตติ้งปัญหาใหญ่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผลสำรวจนักลงทุนของตลท. พบส่วนใหญ่มีพฤติกรรมลงทุนระยะสั้น ถือหุ้นแค่ 1-2 วัน และลงทุนยาวสุดไม่เกิน 1 ปี และนักลงทุนบางส่วนที่ซื้อขายเกิน 6 เดือน เผ่นแน่บหลังขาดทุน พบ 65% ของคนเล่นหุ้นใช้บริการซื้อขายผ่านมาร์เก็ตติ้ง ขณะที่ปัญหาของมาร์เก็ตติ้ง คือ มีความรู้ไม่เพียงพอและไม่น่าเชื่อถือ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แถลงผลสรุปโครงการวิจัยนักลงทุน(Investor Research Program)เรื่องพฤติกรรมการลงทุน และความสนใจในผลิตภัณฑ์ของตลท.รวมถึงทัศนคติของนักลงทุนต่อตลาดทุนว่า ผลสำรวจพบพฤติกรรมนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ยังเป็นนักลงทุนระยะสั้นและมีความสามารถในการถือครองหุ้นหรือลงทุนตั้งแต่ 1-2 วัน และลงทุนไม่เกิน 1 ปีมากที่สุด แม้ว่าคำจำกัดความของนักลงทุนระยะยาวยังหมายถึงกลุ่มที่ถือครองหุ้นตั้งแต่ 1 เดือน จนถึงมากกว่า 3 ปี ซึ่งหมายความว่าแม้จะยังถือหุ้นอยู่แต่ก็ยังมีการซื้อขายด้วยไม่ได้ซื้อและถือยาวโดยไม่ซื้อขายเลย

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า 69% เป็นนักลงทุนที่ซื้อขายต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดทำการซื้อขายเกิน 6 เดือน แต่ที่เหลือ 31% เป็นนักลงทุนที่ซื้อขายเกิน 6 เดือนและไม่กลับเข้ามาลงทุนอีกเลย เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน และปัญหาที่เกิดเนื่องจากส่วนใหญ่นักลงทุนยังเน้นการใช้บริการซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งมากที่สุด คิดเป็น 65% แต่ปัญหาของมาร์เก็ตติ้ง คือ ยังมีความรู้ไม่เพียงพอและไม่น่าเชื่อถือ

ข้อด้อยของนักลงทุนก็คือ ยังเชื่อในข่าวลือตามห้องค้าเป็นหลัก และเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรมากเกินไปไม่ได้ลงทุนอิงตามปัจจัยพื้นฐานและยังพบอุปสรรคต่อการลงทุนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตลาดหุ้นไทยนั้นมีความผันผวนมากเกินไป คิดเป็น 50% และราคาหุ้นส่วนใหญ่ไม่สะท้อนราคาตามปัจจัยพื้นฐาน

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวและว่า ดังนั้นบทสรุปในเรื่องนี้คือ ตลท.ควรมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น ทั้งนี้จากแผนตลาดในปี 2552 เน้นการเพิ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศอีก 10% จากปี 2551 ที่มีสัดส่วนเพียง 17% ขณะที่มีนักลงทุนรายย่อยถึง 53% และอีก 30% เป็นนักลงทุนต่างชาติ

ส่วนผลการสำรวจนักลงทุนในการเข้าถึงสินทรัพย์ทางการเงินและพฤติกรรมการลงทุนในหุ้นพบว่า ผู้ที่เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนจะมีความมั่งคั่ง(มีฐานะดี)มากกว่า โดยมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น แบ่งเป็นการลงทุนในหุ้นถึง 32% รองลงมาเป็นเงินฝาก 29% และยังกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น พันธบัตร ทอง กองทุนรวม ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์

ด้านอุปสรรคของการเพิ่มจำนวนนักลงทุนกลุ่มใหม่ยังมีเรื่องของทัศนคติและจากความไม่มีความรู้ด้วย โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น ที่กลุ่มเป้าหมายมีทัศนคติว่าการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในที่ดินและทองคำ

ขณะที่ผลดีจากการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งน่าจะมีโอกาสเพิ่มกลุ่มนักลงทุนจากผู้ออมเงินมากขึ้นได้ แต่จากการประเมินกลับพบว่าผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก ถึง 52% และกลุ่มผู้ที่รู้ซึ่งมีเพียง 29% ก็ยังสนใจที่จะฝากเงินอยู่แต่โดยการนำเงินส่วนที่เกินไปฝากที่ธนาคารแห่งอื่นๆแทน

อนึ่งการสำรวจดังกล่าวใช้ฐานข้อมูลนักลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์(บล.)และบริษัทจัดการกองทุนรวม(บลจ.)จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 411 คน ที่มีอายุระหว่าง 25-55 ปีขึ้นไป อาชีพ ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ พนักงาน ข้าราชการ และนักลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีรายได้หลากหลายตั้งแต่ต่ำกว่า 20,000-2,000,000 บาท

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 มีจำนวนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น 965,448 ราย มีจำนวนบัญชีของกองทุนรวมทั้งหมดทุกกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ ยกเว้นกองทุนรวมที่ระดมทุนจากต่างประเทศ 1,317,354 บัญชี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook