ปอร์เช่เดินหน้าซื้อหุ้นโฟล์คเพิ่ม ตั้งเป้าครอง 75% แบบไม่รีบร้อน

ปอร์เช่เดินหน้าซื้อหุ้นโฟล์คเพิ่ม ตั้งเป้าครอง 75% แบบไม่รีบร้อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แม้ว่าจะสามารถช้อนซื้อหุ้นของโฟล์คสวาเกนมาได้เกิน 50% แล้วแต่ปอร์เช่ ยังมีแผนที่จะซื้อหุ้นของโฟล์คต่อไปอีกจนครบจำนวน 75% อย่างไม่รีบร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาหุ้นโฟล์คพุ่งสูงขึ้นเกินเหตุดังที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

โฆษกของบริษัท ปอร์เช่ เอสอี ฯผู้ผลิตรถสปอร์ตแห่งเมืองสตุ๊ตการ์ด ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า บริษัทจะยึดมั่นกับแผนการเดิมที่ระบุว่าจะทำการซื้อหุ้นของบริษัท โฟล์คสวาเกน เอจีฯ เพียงจำนวนหนึ่งและจะต้องมั่นใจว่ามีจำนวนหุ้นเหลือเพียงพอในตลาดเปิดสำหรับการซื้อขายได้อย่างอิสระโดยนักลงทุน ทั้งนี้ในเดือนตุลาคม 2551 ได้เกิดการขาดแคลนหุ้นของโฟล์คสวาเกนส่งผลให้ราคาหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของเยอรมนี พุ่งสูงกว่า 1,000 ยูโร (ประมาณ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อหุ้นในเวลานั้น

ทั้งนี้ปอร์เช่ ได้เข้าซื้อหุ้นของโฟล์คสวาเกนจนสามารถถือครองหุ้นเป็นจำนวน 50.8% ในวันจันทร์ (5 มกราคม) ส่งผลให้ราคาหุ้นโฟล์คสวาเกนพุ่งสูงขึ้นในการซื้อขายในวันอังคาร (6 มกราคม) โดยมีราคาปิดที่ระดับ 285 ยูโรต่อหุ้น

นายทิม เออร์คูฮาร์ท นักวิเคราะห์แห่งบริษัท ไอเอชเอส โกลบอล อินไซท์ จำกัด ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของปอร์เช่ เป็นการแสดงให้เห็นว่าปอร์เช่ เป็นผู้ที่มีสิทธิ์การบริหารกิจการของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของยุโรปหลังจากที่ผู้ผลิตรถสปอร์ตรายนี้ได้เริ่มดำเนินกระบวนการต้อนซื้อหุ้นของโฟล์คตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตามอำนาจของปอร์เช่ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารงานโฟล์คสวาเกน จะถูกจำกัดโดยกฎหมาย รวมทั้งอำนาจแห่งรัฐโลเวอร์ แซกโซนี่ และ สหภาพแรงงานของโฟล์คสวาเกน

รัฐบาลสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกกฎหมายป้องกันความขัดแย้งโดยให้อำนาจรัฐโลเวอร์ แซกโซนี่คิดเป็นสัดส่วน 20.2% ของหุ้นโฟล์กสวาเกนทั้งหมดในการออกเสียงยับยั้งการตัดสินใจใดๆของผู้บริหาร

เขายังระบุในรายงานด้วยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปอร์เช่ ได้ใช้ความพยายามอย่างมีประสิทธิภาพในการเข้าซื้อกิจการผลิตรถยนต์ในยุโรปแห่งหนึ่งแห่งใด ปัจจุบัน ปอร์เช่ ซึ่งมีกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 100,000 คัน และมีพนักงานประมาณ 12,000 คน ได้เทกโอเวอร์กิจการผู้ผลิตรถยนต์ที่มีกำลังการผลิตปีละ 6 ล้านคัน และมีพนักงานมากกว่าปอร์เช่ถึงเกือบ 30 เท่า ซึ่งเกิดขึ้นโดยการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจของนาย เวนเดลิน วีเดอคิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และนายโฮลเกอร์ ฮาร์เทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของปอร์เช่

ผู้บริหารของปอร์เช่ จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองบริษัทในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งเพื่อฝ่าฟันวิกฤติการเงินระดับโลก และการเข้าซื้อกิจการของโฟล์คสวาเกน ปอร์เช่จะได้สิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่อย่างมหาศาลของโฟล์คสวาเกน ซึ่งจะช่วยให้ปอร์เช่สามารถผลิตรถยนต์ตามหลักการประหยัดต้นทุนจากขนาดการผลิต (Economy of Scale) ได้อีกทางหนึ่ง

อนึ่งเมื่อวันจันทร์ (5 มกราคม) นายอดอล์ฟ แมร์คเคิล มหาเศรษฐีชาวเยอรมันวัน 74 ปี เจ้าของกิจการ 120 บริษัท ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยการให้รถไฟวิ่งทับและเสียชีวิตที่เมือง เบลาบอยเรน เนื่องจากนายแมร์คเคิลกำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพี รายงานว่ากลุ่มบริษัทของนายแมร์คเคิลมีปัญหาอย่างหนักจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และเขายังได้เก็งกำไรหุ้นของโฟล์คสวาเกน แต่กลับขาดทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งส่งผลให้กลุ่มบริษัทในเครือของเขาต้องขาดทุนมากขึ้นไปอีก ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook