เอเชียยังไม่ไร้สิ้นซึ่งความหวัง

เอเชียยังไม่ไร้สิ้นซึ่งความหวัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อันเป็นผลพวงสืบเนื่องจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่กวาดซัดไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อนช่วงสิ้นปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ จนทำให้คนหลายล้านคนตกงาน โดยยังไม่มีใครทำนายได้ว่าความเลวร้ายที่สุดจะยุติลงเมื่อใดและตรงจุดไหน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีฉลูวัวอาจจะไม่สดใสนัก แต่ในส่วนของการเมืองโลกนั้น ปีนี้อาจเป็นปีที่ชาวอเมริกันต่างมีความหวังว่าชีวิตจะสดใสขึ้นเมื่อ บารัก โอบามา เข้ามาบริหารประเทศและนำพาประเทศไปสู่การ เปลี่ยนแปลง ตามที่ลั่นวาจาไว้ หลังจากจมปลักอยู่กับความมืดมนขมขื่นมานานถึง 8 ปี ในสมัย รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ด้านชาวยุโรปก็คงจะเร่งเครื่องเดินไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วไม่อืดอาดเหมือนในอดีตเนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่วันครบรอบ 70 ปี ของการเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 วันครบรอบ 20 ปี ที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายทั่วยุโรปกลาง และวันครบรอบ 10 ปี ของการถือกำเนิดสกุลเงินยูโร เป็นต้น

// //

สำหรับทวีปผิวเหลืองเอเชียนั้น เชื่อว่าอนาคตคงจะไม่มืดมนเหมือนอยู่ในอุโมงค์ตันเหมือนในหลายทวีป แม้จะยังคงเผชิญต่อปัญหาเศรษฐกิจ การก่อการร้ายโดยเฉพาะที่อนุทวีป หรือเอเชียใต้ ปัญหาชนกลุ่มน้อยและศาสนา จนทำให้สังคมวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้นก็ตาม แต่มีแนวโน้มว่าเอเชียจะสามารถฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่าทวีปอื่น โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่าสิงคโปร์คงจะเป็นประเทศแรกที่สามารถผงกหัวขึ้นจากสารพัดปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าได้ในราวไตรมาสที่สาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมองปัจจัยเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่จีนเป็นสำคัญด้วย เพราะหากยักษ์ใหญ่เกิดสะดุดขาตัวเองเมื่อใดจากปัญหาการส่งออกชะลอตัวลงสวนทางกับตัวเลขการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น ยักษ์เล็กในทวีปนี้ก็คงจะล้มระเนนระนาดไปตามๆ กัน

กระนั้นจุดอ่อนของทวีปนี้อยู่ที่ภาวะไร้เสถียรภาพและไร้ความมั่นคงในชีวิตอันเนื่องจากกระแสก่อการร้ายที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะที่เอเชียใต้ เมื่อทั้งอินเดียและปากีสถานซึ่งสามารถลดภาวะการเผชิญหน้ากันโดยตรงได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าความสัมพันธ์จะยังคงตึงเครียด ขณะที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มก่อการร้ายตามแนวตะเข็บชายแดนโดยเฉพาะในฝั่งของปากีสถานอาจจะอาละวาดหนักหน่วงมากขึ้น ไม่ต้องพูดไกลไปถึงกลุ่มนักรบตาลีบันในอัฟกานิสถานที่นับวันจะทวีความเข้มแข็งมากขึ้นแม้ว่าจะถูกกองกำลังผสมสหรัฐ-ปากีสถานปราบปรามอย่างหนักก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ายิ่งปราบก็ยิ่งโตจนทำให้ยุทธศาสตร์ผนึกกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด

ขณะที่สงครามกลางเมืองในศรีลังกายังคงยากยุติลงได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับที่เนปาล ซึ่งแม้ว่าอดีตกบฏเหมาอิสต์จะชนะสงครามกลางเมืองสามารถล้มสถาบันกษัตริย์และเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ แต่การฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนสู่ความสงบคงต้องใช้เวลานานหลายปี ด้านบังกลาเทศจะถูกจับตามองมากเป็นพิเศษในฐานะแหล่งผลิตและแหล่งเพาะพันธุ์กลุ่มหัวรุนแรงรายใหม่ แม้จะเพิ่งมีเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับจากปี 2544 หลังจากปล่อยให้รัฐบาลชั่วคราวที่กองทัพสนับสนุนอยู่บริหารประเทศมานาน 2 ปี

ในส่วนของเอเชียตะวันออก ปัญหาใหญ่ที่ผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีต้องทุ่มเวลาให้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการมุ่งหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หดตัวค่อนข้างรุนแรงที่สุดในรอบสิบปี มากกว่าที่จะพุ่งความสนใจไปที่ปัญหาความมั่นคงที่คาบสมุทรเกาหลีซึ่งยังคงตึงเครียดอยู่เหมือนเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีการเตรียมการเงียบๆ เพื่อรับมือในกรณีที่ ประธานาธิบดีคิม จอง อิล แห่งเกาหลีเหนือ เกิดเสียชีวิตกะทันหัน หลังจากสุขภาพทรุดโทรมลงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งเมื่อปีที่แล้ว หลายคนเชื่อว่าหากนายคิม จอง อิล เกิดลาลับจริง การเมืองในโสมแดงก็อาจเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน โดยระบบการสืบทอดผ่านทายาทสายตรงอาจจะล้มไปโดยปริยาย

ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีฉลูคงจะเป็นปีที่ภูมิภาคนี้ทวีความสำคัญมากขึ้น หลังกฎบัตรของกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อปรับเปลี่ยนภูมิภาคนี้ที่มีประชากรรวมกันทั้งหมด 500 ล้านคน ให้เป็นประชาคมที่มีกฎเกณฑ์บังคับใช้ร่วมกัน รวมทั้งตั้งเป้าให้ภาคีสมาชิกรวมตัวกันเป็นเขตการค้าเสรีก่อนปี 2558

แต่อาเซียนยังต้องเผชิญปัญหาอีกมากมาย เนื่องจากยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการจนทำให้ไม่สามารถรวมตัวได้อย่างแนบแน่นเฉกเดียวกับกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นผลมาจากความหลากหลายในด้านการปกครองตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการ ไปจนถึงประชาธิปไตย รวมถึงความแตกต่างในระบอบเศรษฐกิจ ตั้งแต่สังคมนิยมไปจนถึงทุนนิยม ที่สำคัญก็คือประชาชนต่างขาดจิตสำนึกรวมถึงความเป็นอาเซียนด้วยกัน จึงขาดความกระตือรือร้นที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคีสมาชิกผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้นจนนำไปสู่การใช้เงินสกุลเดียวกัน หรือใช้หนังสือเดินทางร่วมกันได้

ขณะเดียวกัน ภาคีสมาชิกของอาเซียนเองก็อยู่ในช่วงการผลัดเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ต่อเนื่องมาจากปีชวดหนู ถึงปีฉลูวัวและปีขาลเสือ ที่น่าสนใจก็คือที่มาเลเซียซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อนาจิบ ราซัค แทน อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ที่ถูกกดดันให้ลาออกในเดือนมีนาคมนี้ แต่นายราซัคคงไม่มีเวลาฮันนีมูนนานนัก เมื่อคู่ปรับเก่าอย่างนายอันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านได้จ้องรอโอกาสทองเช่นนี้อยู่แล้ว และจะไม่ปล่อยให้หลุดลอยไปง่ายๆ แต่จะเร่งสร้างกระแสคว่ำรัฐบาลให้อยู่หมัด ด้วยข้ออ้างเรื่องการทุจริตฉ้อฉลที่ระบาดไปทั่ว รวมทั้งเรื่องที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจนขาดความเป็นอิสระ

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ต้องจับตามองมากที่สุดในบรรดาภาคีสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เนื่องจากนางสิงห์กลอเรีย อาร์โรโย วัย 61 ปี จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2553 หลังจากนั่งทำเนียบมาลากันยังมานานถึง 9 ปี จึงเป็นชนวนความวุ่นวายทางการเมืองไม่หยุดหย่อน รวมไปถึงการมีข่าวลือหนาหูว่าเธอวางแผนจะล้มการเลือกตั้งก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง ขณะที่พรรคพวกของเธอได้ฉวยโอกาสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้มานาน 20 ปี เพื่อไฟเขียวให้ผู้นำที่ทุจริตฉ้อฉลได้อยู่ตำแหน่งนานขึ้น ส.ส.บางคนได้สอพลอถึงขนาดเสนอให้ยืดเวลาการดำรงตำแหน่งของนักการเมืองและข้าราชการทุกตำแหน่งออกไปหนึ่งปี พร้อมๆ กับให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกหนึ่งปีด้วย บางรายถึงกับเสนอให้นางอาร์โรโยลาออกเพื่อให้นักการเมืองคนใหม่มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศด้วยทิศทางใหม่ เพราะกลัวว่าเธอจะประกาศเลื่อนเลือกตั้งออกไปเพื่อไม่ให้ถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีทุจริตฉ้อฉลเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ท่ามกลางกระแสผันผวนทางการเมือง นางอาร์โรโยได้แต่ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมจะยอมถอดหัวโขนแต่โดยดีเพราะนอนใจที่เศรษฐกิจพื้นฐานเริ่มกระเตื้องขึ้นจากผลการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินการคลังจนทำให้ไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก แม้ว่าชาวตากาล็อกจะยังคงบ่นว่าราคาข้าวของและสินค้าต่างๆ ยังคงสูงอยู่เช่นเดียวกับค่าโดยสารรถเมล์และค่าไฟ ขณะที่ปัญหาการทุจริตฉ้อฉลในทุกภาคส่วนตั้งแต่ข้าราชการระดับล่างไปจนถึงข้าราชการระดับสูงมีแต่ยิ่งลามมากขึ้น แม้กระทั่งนางอาร์โรโยเองก็ถูกฟ้องในคดีนี้แต่ยังได้รับการคุ้มครองไม่ถูกนำตัวขึ้นศาลในช่วงนี้ ขณะที่ปัญหาการก่อการร้ายที่มินดาเนามีแต่รุนแรงมากขึ้น

ส่วนการเมืองในพม่าคงจะวุ่นต่อไป หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อปูทางให้กลุ่มผู้นำชุดนี้สามารถกวาดเสียงข้างมากในการเลือกตั้งในปี 2553 เนื่องจากไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งมากพอ ขณะที่นางออง ซาน ซู จี ผู้เป็นความหวังเดียวที่จะนำอนาคตอันสดใสมาสู่ประเทศและการสร้างความสมานฉันท์ยังคงถูกกักบริเวณที่บ้านพัก

อีกประเทศหนึ่งที่หน้าจับตามองก็คือ เวียดนาม ที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาของการฉลองกรุงฮานอยมีอายุครบหนึ่งพันปี ความฮึกเหิมนี้ทำให้ชาวญวนไม่รู้สึกถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจมากนัก แต่รัฐบาลเองก็ไม่ประมาทเนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะไม่คอยสดใสนัก โดยอาจเป็นไปได้ที่เงินด่องอาจจะอ่อนค่าลงอีก 30 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นผลพวงจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้น

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

อาถรรพณ์นรกซานติก้า ที่ดินนี้มีตำนาน...เลือด!!!

จากที่ดินทำเลทองย่านเอกมัย เพียงชั่วข้ามคืนของวันแรกที่ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2552 กลับกลายเป็นสุสานของเหยื่อเพลิงนรก นำมาสู่การผูกโยงถึงความเชื่อของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับ สุสานซานติก้าผับ ด้วยความหวาดผวา และบอกเล่าถึงเรื่องราวอาถรรพณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงลางร้ายบอกเหตุที่อาจจะเป็นสาเหตุที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook