นายจ้างขอเวลา 2-3 ปี ขึ้นค่าแรง 300 บาท

(4 ก.ย.) ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้างแนะการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ให้ทยอยขึ้นใน 2-3 ปี เพื่อให้นายจ้างได้บริหารต้นทุน ชี้อาจเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในส่วนกลาง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานกลับคืนถิ่น ด้านฝ่ายลูกจ้างขอความชัดเจนรัฐบาลเรื่องคำว่ารายได้-ค่าจ้าง
ในการสัมมนาเรื่อง "คิดอย่างไร กับรายได้ 300 บาทต่อวัน" ซึ่งจัดโดย คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างดังกล่าวสามารถทำได้ แต่ควรเป็นไปตามขั้นตอนโดยให้เวลา 2 - 3 ปี เพื่อให้นายจ้างมีเวลาบริหารต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มในอนาคต อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าจ้าง จะมีผู้ที่ได้ประโยชน์เพียงส่วนน้อย คือ แรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานแรกเข้า ซึ่งมีประมาณ 2- 3 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 24 ล้านคน แต่มีความกังวลถึงปัญหาในอนาคต หากมีการปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศว่า แรงงานในส่วนกลางอาจขาดแคลน เพราะผู้ใช้แรงงานจะกลับคืนถิ่นมากขึ้น
ขณะที่ นายชัยพร จันทนา ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้างเห็นว่า การขึ้นค่าจ้างสามารถทำได้ทันทีเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ แต่ต้องขอความชัดเจนจากรัฐบาล เรื่องความแตกต่างระหว่างคำว่ารายได้ กับ ค่าจ้าง เนื่องจากทุกวันนี้หากมองเฉพาะส่วนรายได้ ผู้ใช้แรงงาน มีรายได้ถึง 300 บาท อยู่แล้ว
นายชวลิต อาคมธน ประธานคณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในการสัมมนาวันนี้ ทางสภาที่ปรึกษาฯ จะนำความคิดเห็นข้อเท็จจริงของทุกภาคส่วนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพราะทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชนย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงในครั้งนี้เช่นกัน.- สำนักข่าวไทย