ฮีโร่แห่งอดีตและปัจจุบัน (2)

ฮีโร่แห่งอดีตและปัจจุบัน (2)

ฮีโร่แห่งอดีตและปัจจุบัน (2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าเด็กที่ชอบฟุตบอล 9 ใน 10 คน ฝันอยากเป็นศูนย์หน้า นักเตะที่สวมเสื้อหมายเลข 9 ผู้เป็นฮีโร่ทำประตูให้ทีมคว้าชัยชนะได้ เพราะต้องยอมรับว่าศูนย์หน้าคือตำแหน่งที่เด่นที่สุดในทีมฟุตบอล

เป็นตำแหน่งที่ขโมยซีนและเป็นพระเอกในสายตาของแฟนๆ และแต่ละทีมย่อมมีดาวยิงผู้เป็นฮีโร่ประจำทีมมาแล้วในอดีต และคนที่ถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นฮีโร่ของทีมได้ในปัจจุบัน ลองไปดูฮีโร่เหล่านั้นของแต่ละทีมในพรีเมียร์ลีกกัน

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

จอร์จ เบสท์ (1963-1974) 470 นัด 179 ประตู

เจ้าของฉายา “เดอะบีทเทิลคนที่ 5” เป็นมากกว่าแค่นักฟุตบอล เขาเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม เป็นตำนานที่มีชีวิต และเรื่องเล่าที่ยืนยาว เบสท์มีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นหน้าตา, เสน่ห์ และพรสวรรค์

แต่สิ่งที่เป็นด้านลบก็มีตามมาด้วย และนั่นทำให้เส้นทางอาชีพที่เจิดจ้าของเขาต้องดับแสงเร็วเกินไป แต่อัจฉริยะผู้นี้ยังคงเป็นที่จดจำและระลึกถึง โดยโลกฟุตบอลต้องเสียน้ำตาเมื่อเขาจากไปด้วยวัยเพียง 59 ปี

เวย์น รูนี่ย์ (2004-2011) 321 นัด 147 ประตู

ทั้งชีวิตการค้าแข้งของรูนี่ย์ เขาอยู่ในฐานะ “ผู้กอบกู้” ของฟุตบอลอังกฤษ และบางครั้งเขาก็ไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้ได้ แต่ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทของเขาทั้งกับสโมสรและทีมชาติ ปัญหาทั้งทางกายและทางใจที่รุมเร้าเขาอยู่นาน 12 เดือน ถูกปลดเปลื้องไปได้ในที่สุด

ด้วยประตูชัยสุดสวยในเกมดาร์บี้แมตช์กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไม่มีใครจะมีบทบาทในโค้งสุดท้ายของการลุ้นแชมป์ ซึ่งแมนฯยูฯคว้าไปครองเป็นสมัยที่ 19 มากไปกว่าเขาอีกแล้ว ถ้าเขาเล่นได้ แมนฯยูฯก็เล่นได้ มันก็ง่ายๆ แค่นั้น

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด


แจ๊คกี้ มิลเบิร์น (1943-1957) 546 นัด 307 ประตู

เวอร์แจ๊คกี้ (แจ๊คกี้ของเราในสำเนียงจอร์ดี้) เป็นสัญลักษณ์ของนิวคาสเซิล แบบที่สแตนลี่ย์ แมทธิวส์เป็นของแบล็คพูล, แนท ลอฟท์เฮาส์เป็นของโบลตัน และทอม ฟินนี่ย์ เป็นของเปรสตัน

เขาเดินทางมาทดสอบฝีเท้ากับสาลิกาดงพร้อมกับสตั๊ดที่ถูกยืมมาในห่อกระดาษสีน้ำตาล และมื้อเที่ยงของเขาเป็นพายหนึ่งชิ้นกับน้ำอัดลมหนึ่งขวด แต่ก็ซัลโวไป 6 ประตู ในการทดสอบฝีเท้าครั้งที่สอง จนผ่านการคัดเลือก

โดยก่อนหน้านี้เขาทำงานเป็นคนงานเหมืองเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเป็นกุญแจสำคัญในการคว้าแชมป์เอฟเอคัพ 3 สมัย ของทีมในปี 1951, 1952 และ 1955

โชล่า อเมโอบี้ (2000-2011) 313 นัด 70 ประตู

บางทีโชคชะตาของเขาอาจจะถูกขีดมาให้ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของนักเตะคนอื่นๆ มาโดยตลอด ทั้งการเป็นตัวเลือกรองจากอลัน เชียเรอร์ และ ดันแคน เฟอร์กูสัน หลังจากนั้นเขาก็ต้องเป็นตัวประกอบของนักเตะอย่างโอบาเฟมี่ มาร์ตินส์, ไมเคิล โอเว่น และแอนดี้ คาร์โรลล์

แต่อเมโอบี้ก็ยังได้ลงสนามให้นิวคาสเซิลไปแล้วกว่า 300 นัด และเขาเป็นนักเตะที่ผสมผสานทั้งพรสวรรค์ที่แท้จริงกับการไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้อย่างเต็มที่ เขาสามารถเป็นตัวแสบของแผงหลังได้ แต่ก็ทำแบบนั้นได้ไม่บ่อยนัก

นอริช ซิตี้

จอห์นนี่ เกวิน (1948-1954, 1955-1958) 338 นัด 132 ประตู

เกวินทำงานเป็นช่างทาสีและตกแต่งให้กับบริษัทรถไฟของไอร์แลนด์อยู่ ตอนที่เขาถูกดั๊ก ล็อคเฮด ผู้จัดการทีมนอริช ทาบทาม ก่อนจะก้าวมาเป็นดาวซัลโวสูงสุดลอดกาลของสโมสรจากการลงเล่นให้ทีมสองช่วง ซึ่งถูกขั้นโดยหนึ่งฤดูกาลกับสเปอร์ส

เขาเป็นปีกมากกว่าศูนย์หน้า และไม่ได้เป็นที่โปรดปรานของแฟนบอลในถิ่นแคร์โรว์ โร้ด มากนัก แต่เจ้าตัวบอกว่าเขาสนุกกับการได้รับปฏิกิริยาในด้านลบเพื่อที่จะตอบโต้กลับคืนไป

แกรนท์ โฮลท์ (2009-2011) 92 นัด 53 ประตู

ค่าเฉลี่ยในการทำประตูเกินกว่าหนึ่งลูกในทุกสองนัดทำให้โฮลท์เป็นหัวหอกคนสำคัญในการนำนอริชไต่เต้าจากลีกวันจนขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้ นับเป็นการประสบความสำเร็จเสียทีกับทีมที่ 9 ในชีวิตการค้าแข้ง 12 ปีของเขา

ตอนนี้ศูนย์หน้าวัย 30 ปี เป็นกัปตันทีมของพอล แลมเบิร์ตด้วย และแม้จะพัฒนาขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่โฮลท์รู้ว่ายังมีบททดสอบที่หินที่สุดรอเขาอยู่ นั่นคือการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นหนทางที่ยาวไกลที่เริ่มต้นจากเวิร์คคิงตัน, ฮาลิแฟ็กซ์ และบาร์โรว์

ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส

เลส เฟอร์ดินานด์ (1987-1995) 183 นัด 90 ประตู

เฟอร์ดินานด์ เกิดที่แอ็คตันและได้รับความสนใจจากควีนส์ปาร์คตอนที่ลงเล่นให้กับทีมนอกลีกอย่างเฮย์ส เขาติดอยู่ในโผทีมยอดเยี่ยมตลอดกาลของแฟนบอลทหารเสือราชินีด้วย

จากฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นของเขา ซึ่งปูทางให้เขาก้าวไปสู่การมีชื่อเสียงมากขึ้นหลังจากนั้น เฟอร์ดี้เด่นเรื่องลูกโหม่งเมื่อเทียบกับความสูงเพียง 5 ฟุต 11 นิ้ว ของเขา เขามีความเร็วและแข็งแกร่ง และกลายเป็นขวัญใจของทั้งแฟนบอลนิวคาสเซิลและสเปอร์สเมื่อย้ายไปร่วมทีมด้วย และเป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลยูโร 96 และฟรองซ์ 98 แต่ไม่ได้ลงเล่น

อเดล ทารับต์ (2009-2011) 94 นัด 27 ประตู

อนาคตในถิ่นลอฟตัส โร้ดของดาวเตชาวโมร็อกโกยังไม่ชัดเจน และเขาอาจจะสร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทีมได้ แต่นีล วอร์น็อครู้ว่าเขาคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คิวพีอาร์ได้แชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

ทารับต์ถูกยืมตัวมาจากสเปอร์ส ซึ่งเขาไม่สามารถแจ้งเกิดได้ภายใต้การคุมทีมของฆวนเด้ รามอสหรือแฮร์รี่ เรดแนปป ก่อนจะถูกซื้อขาดด้วยค่าตัว 2 ล้านปอนด์

เมื่อซัมเมอร์ที่แล้ว เขาโชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอดในวันที่เล่นเข้าฝัก โดยเฉพาะเมื่อมีบอลอยู่ที่เท้า แต่วันแบบนั้นมาถึงบ่อยแค่ไหน?

สโต๊ค ซิตี้

จอห์น ริทชี่ (1962-1966, 1969-1975) 343 นัด 176 ประตู

ถูกโทนี่ ว็อดดิงตัน ซื้อตัวมาจากเคทเทอริงกิ้งอย่างเงียบๆ และทำไป 30 ประตู ในฤดูกาลแรกของเขากับสโต๊ค ก่อนจะถูกขายไปให้กับเชฟฟิลด์ เว้นส์เดย์ แบบสุดช็อก ซึ่งยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้จนทุกวันนี้

ว็อดดิงตันใช้เวลาอยู่ 3 ปี ก่อนจะยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง และดึงริทชี่กลับมาร่วมทีมชุดที่มีทั้งกอร์ดอน แบงค์ส, ไมค์ เปยิช, เทอร์รี่ คอนรอย, จอร์จ อีสต์แฮม และจิมมี่ กรีนฮอฟฟ์ ซึ่งเอาชนะเชลซีได้ในนัดชิงชนะเลิศลีกคัพปี 1972 ช่วยให้ทีมช่างปั้นหม้อได้ครองแชมป์รายการใหญ่เป็นครั้งแรก

เคนวิน โจนส์ (2010-2011) 40 นัด 12 ประตู

หัวหอกร่างยักษ์ชาวตรินิแดดถูกซันเดอร์แลนด์ไฟเขียวให้ย้ายทีมได้แบบเซอร์ไพรส์ ด้วยค่าตัว 8 ล้านปอนด์ เมื่อซัมเมอร์ที่แล้ว และเขาก็ปักหลักในฐานะกำลังสำคัญในแนวรุกในทีมของโทนี่ พูลิส ได้อย่างรวดเร็ว

โจนส์ประสานงานร่วมกับโจนาธาน วอลเตอร์สได้อย่างดี และได้ประโยชน์จากการมีนักเตะริมเส้นคอยป้อนบอลให้ตลอดเวลาด้วย เขามีรูปร่างสูงใหญ่และแข็งแกร่ง แต่บางครั้งก็หายไปจากเกมเฉยๆ ได้ แต่ก็เคยเล่นงานจอห์น เทอร์รี่และดาวิด หลุยซ์ จนอ่วมมาแล้ว ในเกมที่บริททานเนีย สเตเดี้ยมเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

ซันเดอร์แลนด์

ชาร์ลี บั๊คคั่น (1911-1925) 411 นัด 222 ประตู

กองหน้าชาวลอนดอนย้ายไปสู่ถิ่นแวร์ไซด์ด้วยวัยเพียง 20 ปี และกลมกลืนกลายเป็นชาวเมืองซันเดอร์แลนด์ได้ในช่วงเวลา 14 ปีที่นั่น ซึ่งถูกคั่นด้วยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเขาได้เหรียญกล้าหาญมาจากกองทัพด้วย

บั๊คคั่นเป็นเจ้าของสถิติทำประตูในลีกให้ทีมแมวดำได้สูงสุด เขามีรูปร่างที่สูงและสง่างาม รวมถึงการจบสกอร์อย่างเหนือชั้น เขามีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบการเล่นแบบ WM ตอนร่วมงานกับเฮอร์เบิร์ต แช็ปแมน ที่อาร์เซนอล และภายหลังยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมผู้สื่อข่าวฟุตบอลของอังกฤษด้วย

อซาโมอาห์ กียาน (2010-2011) 33 นัด 11 ประตู

กียานเริ่มต้นกับทีมเมื่อฤดูกาลที่แล้ว โดยเป็นหนึ่งในการเล่นด้วยระบบกองหน้า 3 ตัว แต่ตอนนี้เขาต้องแบกรับภาระในการทำประตูไว้ พร้อมกับคอยเป็นพี่เลี้ยงให้น้องใหม่อย่าง คอนเนอร์ วิคแฮม ด้วย

หัวหอกชาวกานาต้องทดแทนช่องว่างของทีมที่เกิดขึ้นหลังจากดาร์เรน เบนท์ ย้ายไปแอสตัน วิลล่า และเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าผลงานของเขาในฟุตบอลโลก 2010 เป็นของจริง เมื่อแสดงให้เห็นถึงสัญชาตญาณในการทำประตูที่เฉียบขาด

แม้ว่าช่วงแรกจะมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับเกมที่หนักของพรีเมียร์ลีกอยู่บ้าง ตอนนี้เขาเองคงคาดหวังจากตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

สวอนซี ซิตี้

ไอเวอร์ ออลเชิร์ช (1947-1958, 1965-1968) 445 นัด 164 ประตู

“โกลเด้นบอย” ของวงการฟุตบอลเวลส์ผู้นี้เคยค้าแข้งกับนิวคาสเซิลและคาร์ดิฟฟ์ด้วย แต่เป็นกับสวอนซี ซึ่งยังเป็น “ทาวน์” ไม่ใช่ “ซิตี้” ที่เขาถูกเซอร์แมตต์ บัสบี้ ยอดกุนซือของแมนฯยูฯ พูดถึงว่าเป็นนักเตะที่ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์เสื้อเวลาลงเล่นก็ได้ เพราะ “ลีลาและความเหนือชั้นของเขาไม่มีทางที่ใครจะมองไม่เห็น”

ขณะที่เซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน หนึ่งในกองหน้าระดับตำนานของปิศาจแดง จดจำเขาในด้านของ “บารมีและอิทธิพลที่มีต่อทีม” ออลเชิร์ช ซึ่งมีเท้าซ้ายที่โดดเด่น ทำประตูได้จากนอกกรอบเขตโทษเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการหาช่องว่างและตะบันเข้าไป เขาเป็นคนเงียบๆ และถ่อมตัว แต่ก็เป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง

สกอตต์ ซินแคลร์ (2010-2011) 50 นัด 27 ประตู

เขาไม่สามารถแจ้งเกิดกับเชลซีหรือวีแกนได้ แต่เบรนแดนน ร็อดเจอร์ส ก็เชื่อมั่นในปีกรายนี้ และความศรัทธาของเขาก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ตั้งแต่ก่อนเขาจะทำแฮตทริกได้ที่เวมบลีย์ ซึ่งส่งผลให้ทีมหงส์ขาวคว้าชัยชนะในการเพลย์ออฟเลื่อนชั้น ซินแคลร์เล่นทางฝั่งซ้าย แต่ด้วยความเร็วและการเล่นได้ดีทั้งสองเท้า ทำให้เขาถูกโยกมาเล่นเป็นกองหน้าในช่วงกว่า 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เขายังต้องรอการพิสูจน์ตัวเองอยู่ 

ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์

จิมมี่ กรีฟส์ (1961-1970) 379 นัด 266 ประตู

บิล นิโคลสัน จ่ายเงิน 99,999 ปอนด์ เพื่อดึงตัวศูนย์หน้าที่คิดถึงบ้านกลับมาจากเอซี มิลาน โดยนั่นทำให้เขาไม่ต้องกลายเป็นนักเตะคนแรกที่มีค่าตัวถึง 1 ล้านปอนด์ แต่กลายมาเป็นเพชฌฆาตถล่มประตูที่ยอดเยี่ยมอีกครั้ง

เขาเป็นดาวซัลโวสูงสุดของอังกฤษถึง 6 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 4 ครั้ง กับสเปอร์ส และอีก 2 ครั้ง กับเชลซี และเขาก็ดูเหมือนไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลยในการจะคว้าตำแหน่งนั้นมา นอกจากการส่งบอลเข้าสู่ก้นตาข่ายเท่านั้น

การบาดเจ็บทำให้กรีฟส์เสียตำแหน่งในฟุตบอลโลก 1966 ให้กับเจฟฟ์ เฮิร์สท์ แต่แฟนบอลไก่เดือยทองทุกคนรู้ว่ากรีฟส์คือนักเตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

เจอร์เมน เดโฟ (2004-2008, 2009-2011) 261 นัด 101 ประตู

เดโฟ เป็นดาวยิงโดยธรรมชาติ เขามีปัญหากับฆวนเด้ รามอส อดีตโค้ชของทีม จนต้องอำลาถิ่นไวท์ฮาร์ทเลนไป ก่อนถูกแฮร์รี่ เรดแนปป์ ดึงตัวกลับมาเข้าเล้าไก่อีกครั้ง หลังเป็นคนซื้อตัวเขาไปปอร์ทสมัธ

ปัญหาอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากเขาทำแฮตทริกให้อังกฤษได้ในเกมกับบัลแกเรีย ทำให้เรดแนปป์หันไปเลือกใช้ราฟาเอล ฟาน เดอร์ ฟาร์ต ลงเล่นเป็นหน้าต่ำอยู่หลังปีเตอร์ เคราช์แทน

แต่เดโฟก็ยังเป็นตัวทำสกอร์ที่ดีที่สุดของสเปอร์สเมื่อเทียบกับศูนย์หน้าคนอื่นๆ ในทีม

เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน

เจฟฟ์ แอสเทิ่ล (1964-1974) 361 นัด 174 ประตู

โทนี่ “บอมเบอร์” บราวน์ ทำประตูได้มากกว่า แต่สำหรับแฟนบอลเดอะแบ็กกี้ส์ทุกคนแล้ว แอสเทิ่ลจะเป็น “เดอะคิง” ของพวกเขาเสมอ เขามีลูกโหม่งที่ทรงพลังและเป็นศูนย์หน้าสไตล์ดั้งเดิม

ความยิ่งใหญ่ของเขาได้รับการยอมรับที่เดอะฮอว์ธอร์นส์ ด้วยประตู “แอสเทิ่ล เกทส์” ในสนาม เขาเป็นผู้ทำประตูชัยในเอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศปี 1968 แต่ 5 นัดของเขากับอังกฤษไม่มีประตูเกิดขึ้น

นอกจากการพลาดที่ถูกจดจำฟุตบอลโลก 1970 กับบราซิล แอสเทิ่ล เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 59 ปี โดยถูกคาดการณ์ว่าเป็นเพราะการต้องโหม่งบอลอยู่ตลอดเวลา

ปีเตอร์ โอเด็มวิงกี้ (2010-2011ป 32 นัด 15 ประตู

โอเด็มวิงกี้ เป็นนักเตะไนจีเรียที่เกิดในอุซเบกิสถาน และไปสร้างชื่อในฝรั่งเศสกับรัสเซีย ก่อนจะถูกกระแสการเหยียดผิวบีบให้เขาต้องอำลาโลโคโมทีฟ มอสโก มาสู่อ้อมอกของเวสต์บรอมเมื่อซัมเมอร์ที่แล้ว

เขาคว้าตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมประจำเดือนสองครั้ง และเป็นดาวซัลโวสูงสุดอันดับ 5 ในฤดูกาลแรกที่เดอะฮอว์ธอร์นส์ โอเด็มวิงกี้มีความเร็วและมันสมองในการเล่น การรั้งตัวเขาไว้อาจจะเป็นงานหนักสำหรับ รอย ฮอดจ์สัน

วีแกน แอธเลติก

แอนดี้ ลิดเดลล์ (1978-2004) 251 นัด 72 ประตู

เขาค้าแข้งอยู่กับบาร์นส์ลี่ย์นาน 8 ปี ซึ่งรวมไปถึงฤดูกาลที่น่าจดจำในพรีเมียร์ลีกภายใต้การคุมทีมของแดนนี่ วิลสันด้วย ก่อนจะย้ายข้ามเทือกเขาเพนไนน์สมาร่วมทีมวีแกนตอนที่ยังเล่นในระดับดิวิชั่น 2 และร่วมงานกับผู้จัดการทีมถึง 5 คน ที่เดอะลาติกส์ ก่อนจะถูกพอล จิวล์ ขายให้กับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดเมื่อปี 2004

ลิดเดลล์ทุบสถิติดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรที่เดวิด โลว์ ทำไว้ได้ในฤดูกาลสุดท้ายกับทีม ตอนนี้เขาเป็นผู้จัดการทีมร็อทเธอร์แฮมอยู่ แต่ก็ยังนึกถึงช่วงเวลาที่ดีของเขาในถิ่นดีดับเบิลยู สเตเดี้ยมอยู่เสมอ

ฮูโก้ โรดาเยก้า (2009-2011) 94 นัด 22 ประตู

หัวหอกโคลอมเบียรายนี้เคยค้าแข้งอยู่ในบ้านเกิดและในลีกเม็กซิโก ก่อนจะย้ายมาวีแกนด้วยค่าตัว 4.5 ล้านปอนด์ และแม้ว่าเขาจะดูไม่อันตรายอะไรเลย แต่ประตูที่เขาทำได้ก็สำคัญๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะประตูชัยในการไปเยือนสโต๊คในนัดสุดท้ายของฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งทำให้ทีมของ โรเบอร์โต้ มาร์ติเนซ ได้ฉลองความสำเร็จในการหนีตกชั้นกันอย่างเต็มที่

โรดาเยก้าแสดงความหัวแข็งออกมาให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเขาคิดว่าเขาว่าไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม แต่เขาก็มีศักยภาพที่จะทำประตูให้ทีมได้มากขึ้นกว่าที่ทำได้จนถึงตอนนี้ ถ้าหากเขาได้รับการป้อนบอลให้มากพอ

วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส

สตีฟ บูลล์ (1986-1999) 561 นัด 306 ประตู

ไม่มีใครเป็นฮีโร่ที่แท้จริงสำหรับแฟนบอลหมาป่ามากไปกว่าบูลล์อีกแล้ว เมื่อเขาปฏิเสธข้อเสนอจากทีมดังๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า และเลือกที่จะอยู่เล่นในถิ่นโมลินิวซ์ กราวด์ตลอดทั้งชีวิตการค้าแข้ง โดยทำไป 18 แฮตทริก รวมถึงการซัลโว 52 ประตู ในฤดูกาล 1987-88 ด้วย
บูลล์ผันตัวจากอดีตคนงานมาเป็นศูนย์หน้าสไตล์ดั้งเดิม เขาได้ร่วมทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลโลก 1990 ของเซอร์บ็อบบี้ ร็อบสัน ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ลงเล่นในลีกสูงสุด

เควิน ดอยล์ (2009-2011) 68 นัด 17 ประตู

ดอยล์ มีผลงานที่โดดเด่นตอนก้าวขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกกับเรดดิ้ง หัวหอกทีมชาติไอร์แลนด์กลับฟอร์มแผ่วลงไปเมื่อถูกวูล์ฟส์คว้าตัวไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 6.5 ล้านปอนด์ แต่เขาก็ยังเป็นกำลังสำคัญในทีมของมิค แม็คคาร์ธี่

ด้วยการเคลื่อนหาพื้นที่อยู่ตลอดและวิ่งหาพื้นที่อย่างฉลาดเพื่อเปิดช่องว่างให้เพื่อนร่วมทีม ซึ่งเป็นสไตล์การเล่นที่ทีมหมาป่าถนัด การบาดเจ็บเมื่อฤดูกาลที่แล้วของเขาเกือบทำให้วูล์ฟส์ต้องตกชั้น 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook