รีวิว "Nappily Ever After" คุณค่าของความงาม

รีวิว "Nappily Ever After" คุณค่าของความงาม

รีวิว "Nappily Ever After" คุณค่าของความงาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

Nappily Ever After บอกเล่าเรื่องราวของ ไวโอเลต โจนส์ (ซาน่าห์ ลาธาน) Account Executive คนเก่งประจำเอเจนซี่โฆษณา กิจวัตรในแต่ละวันของไวโอเลตที่เธอทุ่มเทไม่แพ้กับงานก็คือ การดูแลเส้นผมบนศีรษะของเธอให้เรียบตรงสวยอยู่ตลอดเวลา โดยไม่แคร์ว่ากระบวนการในการรักษาทรงผมเหล่านั้นให้อยู่ทรง ต้องอาศัยทั้งสารเคมีและความร้อนจากที่หนีบผมก็ตาม

 

 

ไวโอเลตคิดว่าแฟนหนุ่มรูปหล่อกำลังจะขอแต่งงานในวันเกิดของเธอ แน่นอนว่าสาวจอมเพอร์เฟกต์พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เส้นผมบนหัวเรียบตรงอยู่ตลอด แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเธอถูกหลานสาวของเพื่อนฉีดน้ำใส่เส้นผมของเธอจนเกิดการคืนรูปกลายเป็นผมหยิกฟู ตามธรรมชาติทรงผมของผู้หญิงผิวสี เมื่อหายนะมาเยือน ไวโอเลตจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เส้นผมเธอกลับมาสวยดังเดิม ก่อนงานเลี้ยงวันเกิดมื้อค่ำกับแฟนหนุ่มของเธอจะเริ่มต้นขึ้น แต่กลายเป็นว่า “แหวนแต่งงาน” ที่เธอคาดหวังไว้ แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงจี้ห้อยคอสุนัข ที่แฟนหนุ่มเตรียมเอาไว้ให้เธอ และน้องหมาที่ไวโอเลตไม่เคยจะต้องการมาก่อนในชีวิต

 

 

ความผิดหวังเข้าปะทะกับชีวิตไวโอเลตอย่างจัง ส่งผลทำให้เธอทะเลาะกับแฟนหนุ่มอย่างรุนแรง และไวโอเลตตัดสินใจบอกเลิกกับเขา ไม่นานนักเธอก็เริ่มเสียศูนย์ในการใช้ชีวิต ไวโอเลตพยายามลองเปลี่ยนสีผมให้กลายเป็นสีบลอนด์ และพยายามออกเดทกับหนุ่มคนใหม่ แต่เธอก็ไม่สามารถเติมเต็มความสุขของตัวเองได้ เมื่อเธอจ้องมองผมที่เปียกน้ำและฟูฟ่องจนเหมือนพุ่มไม้ เธอตัดสินใจหยิบเอาปัตตาเลี่ยนขึ้นมากล้อนผมบนหัวขอเธอออกจนเกลี้ยงโกร๋น รุ่งเช้าวันถัดมา เธอค้นพบว่าตัวเองเป็นคนใหม่ แต่ในใจของเธอก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา

 

 

ไวโอเลตพยายามจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ด้วยการลองขอหัวหน้าทำงานดูแลลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ นอกเหนือจากกลุ่มสินค้าความสวยความงาม เธอท้าทายตัวเองด้วยการลองจับสินค้าผู้ชายอย่างเช่น เบียร์ และดูเหมือนว่าเธอจะมาพร้อมกับไอเดียที่น่าสนใจ นอกเหนือจากนี้เธอยังพยายามสานสัมพันธ์กับ วิล (ไลริก เบนท์) คุณพ่อลูกติดเจ้าของกิจการซาลอนที่เธอเคยไปใช้บริการ แต่ความพยายามในการใช้ชีวิตใหม่ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเธอค้นพบความจริงที่ว่า “ค่านิยมของสังคม” ยังคงมีภาพจำบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเบียร์ที่ดูเหมือนจะเป็นสินค้าของผู้ชาย ที่มุ่งเน้นแต่ความบันเทิง และเห็นผู้หญิงในโฆษณาเหล่านี้เป็นแค่เพียงวัตถุทางเพศเท่านั้น เช่นเดียวกันกับค่านิยมความงามของผู้หญิงผิวสีคือการมีผมยาวที่เรียบตรง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะทุนนิยมที่พยายามสรรค์สร้างความสวยในแบบอุดมคติผ่านสื่อโฆษณา และกล่อมเกลาความคิดของคนในสังคมมาอย่างยาวนานนั่นเอง

 

 

ท้ายที่สุดแล้วความพยายามทำความเข้าใจในความสุขของชีวิตของไวโอเลต จึงเป็นเหมือนการเดินทางของเส้นผมบนศีรษะของเธอ เริ่มตั้งแต่ผมยาวสวยเป็นลอนตรง มีการเปลี่ยนสี เปลี่ยนทรง ถูกโกนจนล้านเลี่ยน เริ่มงอกขึ้นใหม่ กลายเป็นผมหยิกตามธรรมชาติ ก่อนที่จะถูกดัดอีกครั้งและท้ายที่สุด ตัวของเธอเองจะตัดสินใจให้คุณค่าของชีวิตว่า จะยอมให้ค่านิยมทางสังคมมาเป็นตัวตัดสินความสุขในชีวิตของเธออีกครั้งหรือไม่ Nappily Ever After จึงเป็นหนังที่พาผู้ชมไปหาคุณค่าของความสวยและค้นหาความสุข ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถพึงมีได้นั่นเอง

 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ รีวิว "Nappily Ever After" คุณค่าของความงาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook