“มะลิลา” ตัวแทนหนังไทยปีล่าสุด จะไปได้ไกลแค่ไหนบนเวทีออสการ์?

“มะลิลา” ตัวแทนหนังไทยปีล่าสุด จะไปได้ไกลแค่ไหนบนเวทีออสการ์?

“มะลิลา” ตัวแทนหนังไทยปีล่าสุด จะไปได้ไกลแค่ไหนบนเวทีออสการ์?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

หลังจากที่สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติได้มีการประกาศผลการคัดเลือกภาพยนตร์ไทยทางเพจ Facebook ที่จะเป็นตัวแทนในการส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 91 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ( Best Foreign Language Film Award ) ผลการพิจารณาเป็นมติเอกฉันท์เลือก “มะลิลา” (Malila The Farewell Flower) เป็นตัวแทนหนังไทย

 

ทั้งนี้ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ได้กล่าวว่า ”ในที่ประชุมมีรูปแบบการพิจารณาโดยให้กรรมการเสนอหนังไทยเพื่อพิจารณาและออกความเห็นเป็นรายคนจนครบทุกคน มีภาพยนตร์ที่เข้ารอบสุดท้าย 3 เรื่องก่อนในรอบแรกได้แก่ มะลิลา(Malila The Farewell Flower), ไม่มีสมุยสําหรับเธอ (Samui Song) และพรุ่งนี้ตาย (Die Tomorrow) จากนั้นให้คณะกรรมการทั้ง 7 ท่าน พิจารณา และลงคะแนนจนในที่สุด มะลิลา ก็เป็นผู้ชนะด้วยคะแนนเสียงข้างมากไป "

 

 

มะลิลา เป็นหนังเกี่ยวกับอะไร

มะลิลา (Malila The Farewell Flower) เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติก-ดราม่า ผลงานการกำกับของ อนุชา บุญยวรรธนะ เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีนักแสดงนำอย่าง ศุกลวัฒน์ คณารศ และอนุชิต  สพันธุ์พงษ์ โดยบอกเล่าเรื่องราวของเชน (เวียร์ ศุกลวัฒน์) เจ้าของสวนมะลิผู้มีอดีตอันเจ็บปวด และ พิช (โอ อนุชิต) ศิลปินนักทำบายศรี อดีตคนรักของเชนในวัยเด็กที่กลับมาพบกันอีกครั้ง ทั้งคู่พยายามเยียวยาบาดแผลในอดีตและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ผ่านการทำบายศรีอันงดงาม

โดยประเด็นอันละเอียดอ่อนที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้คือ นำเรื่องการทำบายศรี มาเทียบเคียงกับเรื่องความตายแทรกสอดประเด็นทางพุทธศาสนา ความไม่จีรังยั่งยืน และความรักของมนุษย์ ซึ่งได้พลังการแสดงของสองนักแสดงนำอย่าง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ และโอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ มาช่วยขับเน้นให้ประเด็นที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอมีพลังยิ่งขึ้น

 

 

จากหนังเทศกาลนานาชาติสู่จอหนังในเมืองไทย

ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องโดยเฉพาะสายหนังอิสระ มักจะไปสร้างชื่อเสียงในเวทีต่างๆระดับโลกก่อนจะเข้าฉายในประเทศไทย “มะลิลา” ก็จัดเป็นหนังในกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการคว้ารางวัล รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (Busan International Film Festival) รางวัล NETPAC Award จากเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำ ประเทศไต้หวัน (Taipei Golden Horse Film Festival) รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Film Festival) นอกจากนี้ในเวทีใหญ่ๆอย่าง Asian Film Awards มะลิลา ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถึง 2 สาขาด้วยกัน อันประกอบไปด้วย สาขาผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (อนุชา บุญยวรรธนะ) และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ศุกลวัฒน์ คณารศ)

 

 

โอกาสที่ “มะลิลา” จะเข้ารอบ 5 เรื่องสุดท้าย ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

จากสถิติในอดีต หนังไทยที่รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนในการเข้าชิงรางวัลออสการ์เรื่องแรกคือเรื่อง “น้ำพุ” ในปี 1984

 

1984 – น้ำพุ

1989 – คนเลี้ยงช้าง

1990 – น้องเมีย

1995 – กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้

1997 – เสียดาย 2

1998 – ท้าฟ้าลิขิต

2000 – เรื่องตลก 69

2001 – 14 ตุลา สงครามประชาชน

2002 – มนต์รักทรานซิสเตอร์

2003 – เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล

2004 – โหมโรง

2005 – มหา’ลัยเหมืองแร่

2006 – อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม

2007 – ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ

2008 – รักแห่งสยาม

2009 – ความจำสั้นแต่รักฉันยาว

2010 – ลุงบุญมีระลึกชาติ

2011 – คนโขน

2012 – ฝนตกขึ้นฟ้า

2013 – เคาท์ดาวน์

2014 – คิดถึงวิทยา

2015 – พี่ชาย My Hero

2016 – อาปัติ

2017 – ดาวคะนอง

2018 – มะลิลา

 

แต่จากรายชื่อหนังทั้งหมดนี้ยังไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนที่สามารถติดเป็นรายชื่อ 5 เรื่องสุดท้ายบนเวทีออสการ์มาก่อน แม้กระทั่งหนังที่ดูน่าจะมีลุ้นมากที่สุดอย่าง ลุงบุญมีระลึกชาติ ของผู้กำกับเจ้ย อภิชาติพงศ์ที่ได้ปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็ยังไม่เข้ารอบสุดท้าย

 

เมื่อพิจารณาจากสถิติอาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่การที่หนังต่างประเทศสักเรื่องจะได้รางวัลออสการ์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิดเดียว เพราะนอกจากหนังคุณภาพดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันของค่ายหนังหรือเอเจนท์ ชื่อประเทศที่ส่งหนังเข้าชิงรางวัล ประเด็นและสถานการณ์โลก ความร่วมสมัยของตัวหนัง บรรยากาศการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งในแต่ละปีหนังที่เข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมนั้นในแต่ละปีมีจำนวนมาก (ปี 2019 ตอนนี้มีจำนวนอยู่ที่ 88 เรื่องและยังมีบางประเทศที่ยังไม่เสนอชื่อภาพยนตร์ในการเข้าชิงรางวัล) ส่งผลให้กรรมการบางส่วนดูหนังไม่ครบ หรือเลือกดูเฉพาะหนังที่ตัวเองเคยได้ยินชื่อมาก่อน ดังนั้นการวางแผนประชาสัมพันธ์ในการทำให้หนังของตัวเองเป็นที่รู้จักของกรรมการจึงเป็นเรื่องจำเป็น หนังต่างประเทศหลายเรื่องจึงต้องจ้างบริษัท Publicist ในอเมริกา เพื่อส่งหนังไปให้กรรมการดูอย่างทั่วถึง รวมไปถึงทำการประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการจัดฉายหนังรอบพิเศษสำหรับกรรมการ ทำข่าว รวมไปถึงซื้อโฆษณาเพิ่มเติม และแน่นอนว่าวิธีการดังกล่าวใช้เงินค่อนข้างสูง

 

 

ยังไม่รวมไปถึงการแข่งขันอันแสนดุเดือดในปีนี้ ที่มีหนังจากนานาประเทศซึ่งกวาดรางวัล และคำชื่นชมจากนักวิจารณ์บนเวทีต่างๆมาแล้วทั่วโลก โดยในปีนี้หนังที่มาแรงมากจาก 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย Roma จากประเทศเม็กซิโก Shoplifters จากประเทศญี่ปุ่น Cold war จากประเทศโปแลนด์ Never look away จากประเทศเยอรมัน และ Sunset จากประเทศฮังการี

 

 

การที่หนังต่างประเทศสักเรื่องจะไปโลดแล่นอยู่บนเวทีใหญ่อย่างออสการ์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนเงินทุนในการทำประชาสัมพันธ์หนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม เนื่องจากเวทีออสการ์นั้น “มะลิลา” คือการเข้าชิงในฐานะตัวแทนประเทศไทย

 

โอกาสในการติดโผ 5 เรื่องสุดท้ายก็นับว่ายากแล้ว แต่เราก็ยังแอบคาดหวังอยู่ลึกๆเช่นเดียวกันว่า สักปีหนึ่งในอนาคต หนังไทยจะคว้ารางวัลในสาขาดังกล่าวมานอนกอดและสร้างความภูมิใจให้กับคนในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ชื่นใจกันถ้วนหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook