พระราชประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”
หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ในพุทธศักราช ๒๔๗๙ ต่อมาย้ายไปเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน ในพุทธศักราช ๒๔๘๓และเริ่มเรียนเปียโนที่โรงเรียนแห่งนี้
พร้อมทั้งมีความสนใจที่จะเป็น นักเปียโนในอนาคต กลางพุทธศักราช ๒๔๘๙ รัฐบาลได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เป็นอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมด ไปด้วย ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เรียนจบชั้นมัธยมปีที่
๓ ของโรงเรียน เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ แล้วระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส กับครูพิเศษ ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๙ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ทรงย้ายไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก
ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบ เข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ที่กรุงปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร โรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย สมเด็จพระราชชนนีจึง
ได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ไปศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ ในโรงเรียนประจำชื่อโรงเรียน Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษ แก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์ ต่อมาอีก
๑ ปี สมเด็จพระราชชนนีมีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และพิธีหมั้นระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้จัดขึ้นเป็นการภายใน เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช
๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในโอกาสนี้ได้ทรงเฉลิมพระราชอิสริยยศสมเด็จพระราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๔ พระองค์ คือ
1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐)
3. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพิรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
4. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายหลังเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันมีความหมายว่าทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย
และในฐานะคู่พระราชหฤทัย แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมบูรณ์ตามความหมาย ของพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ โดยแท้