ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 66 เปิดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทไทยเช้านี้เปิดที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ในขณะที่เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway up หรือแข็งค่าขึ้นไม่มาก

ทิศทางของเงินบาทนั้น เริ่มสอดคล้องกับมุมมองของที่มองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มแผ่วลงชัดเจน อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่ยังคงขายสินทรัพย์ไทย มากกว่าที่คาด แต่ทว่า มองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มกลับมาซื้อบอนด์ไทยเพิ่มมากขึ้นได้ หลังรับรู้ผลการประชุม กนง. ในวันนี้ เนื่องจากบอนด์ยีลด์ของไทยทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ได้ปรับตัวขึ้น สะท้อนมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.25% ซึ่งสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 2.00% ไว้พอสมควรแล้ว อนึ่ง แรงขายหุ้นไทยอาจยังคงมีอยู่บ้าง จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งคาดว่า ต้องรอลุ้นผลการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้ โดยหากร่างข้อตกลงดังกล่าว สามารถผ่านสภาคองเกรสได้ราบรื่น ก็อาจหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง

โดยคงมองว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเร็วในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ชะลอการเปิดรับความเสี่ยง เพื่อรอลุ้นผลการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้โดยสภาคองเกรส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ ตามธีมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI นำโดย Intel +3.4%, Nvidia +3.0% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.32% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดก่อนหน้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.12% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.4%, Shell -3.0%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อแนวโน้มการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้โดยสภาคองเกรสสหรัฐฯ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมถูกกดดันโดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูงให้สำเร็จ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง (จากที่เผชิญแรงขายทำกำไรในช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า) หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ลดลงน้อยกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยังคงเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงทรงตัวแถวระดับ 104.1 จุด ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรสในช่วงวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงกว่า -10bps สู่ระดับ 3.70% ในขณะที่เงินดอลลาร์เริ่มทรงตัว ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1,976 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งมองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนที่ได้ซื้อทองคำในช่วงย่อตัวลง ทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) และไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ การพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรส ซึ่งทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ควรมีมติผ่านร่างข้อตกลงดังกล่าว ให้ทันภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด (แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีนอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ทั้งนี้ หากรายงานดัชนี PMI ของจีนออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองหุ้นจีนและหุ้นฮ่องกง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินหยวนของจีนมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้

ส่วนในฝั่งไทย ปัจจัยสำคัญที่ควรติดตาม คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยคาดว่า แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอลง แต่ก็ยังสูงกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมาย จะส่งผลให้ กนง. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.00% ทั้งนี้ เตรียมปรับคาดการณ์จุดสูงสุดดอกเบี้ยนโยบาย (Terminal Rate) ใหม่ หาก กนง. ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook