เปิดผลสำรวจ 5เดือนคนไทยซื้อทองคำลดฮวบ ผวาราคาดิ่ง

เปิดผลสำรวจ 5เดือนคนไทยซื้อทองคำลดฮวบ ผวาราคาดิ่ง

เปิดผลสำรวจ  5เดือนคนไทยซื้อทองคำลดฮวบ ผวาราคาดิ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศูนย์วิจัยทองเปิดผลสำรวจปีนี้ คนไทยลดออมทองลงจากปีก่อน ผวาราคาทองคำดิ่งช่วง 5 เดือน เชื่อแนวโน้มราคาฟื้นขึ้นยาก ขณะที่เดือน มิ.ย.ดัชนีความเชื่อมั่นทองยังลงต่ำกว่ามาตรฐาน

ชี้ปัจจัยค่าเงินบาทมีผลต่อราคาทองในประเทศมากสุด ตามด้วยทิศทางเงินดอลลาร์และแผนชะลอ QE กดราคาทองต่อ ผู้ค้าทองคาดราคาตลาดโลก 1,300-1,500 ดอลล์/ออนซ์ ส่วนทองในไทยแกว่งบาทละ 18,500-20,000 บาท

 

ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่คาดว่าจะใช้เงินออมเพื่อการลงทุนในทองคำในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่าปีนี้กลุ่มตัวอย่างจะลดสัดส่วนการลงทุนทองคำเหลือเฉลี่ย 22.31% ของพอร์ตลงทุน ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนลงทุนทองเฉลี่ย 34.33%

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างสัดส่วน 67.51% ของกลุ่มที่สำรวจทั้งหมด จะใช้เงินออมลงทุนทองคำในปีนี้ต่ำกว่า 20% ของพอร์ตลงทุน ส่วนอีก 16.98% คาดว่าจะไม่ลงทุนในทองคำ ซึ่งสาเหตุที่ลดการลงทุนทองเนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง 5 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ด้านกลุ่มผู้ค้าทองคำ ยังคงแนะนำให้ลงทุนเฉลี่ยประมาณ 10-20% ของเงินลงทุน

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 32.91 ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ระดับ 50 จุดค่อนข้างมาก ขณะที่ดัชนีเฉพาะกลุ่มนักลงทุนอยู่ที่ 31.39 และดัชนีเฉพาะกลุ่มผู้ค้าทองคำอยู่ที่ 39.80 สะท้อนทัศนคติเชิงลบต่อทอง

"เป็นไปได้ว่า ราคาทองคำปรับลงติดต่อกันในช่วง 5 เดือนแรกของปี ทำให้ความมั่นใจว่าจะเห็นราคาทองคำสามารถกลับขึ้นไปเป็นเชิงบวกได้นั้น อาจจะลดน้อยลง" นายกมลธัญกล่าว

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนมิถุนายน ได้แก่ ค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาทองในประเทศ นอกจากนี้มีปัจจัยทิศทางของเงินดอลลาร์ และปัญหาเศรษฐกิจยุโรป

นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำ ประธานชมรมค้าทองคำและผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 15 ตัวอย่าง เชื่อว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนมิถุนายนโดยรวม น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,300-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยกรอบล่างอยู่ที่ระหว่าง 1,300-1,380 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนกรอบบนอยู่ที่ 1,420-1,500 ดอลลาร์/ออนซ์

สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) คาดว่าราคาสูงสุดที่บาทละ 20,000-21,500 บาท โดยมีกรอบเคลื่อนไหวต่ำสุดระหว่าง 18,500-20,000 บาท

ส่วนประเด็นที่จับตาคือ ค่าเงินบาทและโอกาสการชะลอมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook