เก็บภาษีที่ดินฯ เพิ่มรายได้โปะหนี้ 2 ล้านล้าน

เก็บภาษีที่ดินฯ เพิ่มรายได้โปะหนี้ 2 ล้านล้าน

เก็บภาษีที่ดินฯ เพิ่มรายได้โปะหนี้ 2 ล้านล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อ 28-29 มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเป็นสิ่งจำเป็น และต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ที่ยังมองต่างมุม และอาจไม่เชื่อมั่นส่วนใหญ่เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเงินกู้ หลักประกันความโปร่งใสในการดำเนินการ รวมทั้งการชำระหนี้ ที่พรรคฝ่ายค้านตลอดจนสาธารณชนหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภาระหนักกับคนรุ่นลูกหลาน

ผ่านพ้นวาระแรกเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพิจารณารายละเอียดร่างกฎหมาย ก็เริ่มมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมปรับอัตราภาษีบางประเภทขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่ม นำไปชำระหนี้โครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต (VAT) ที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% จนทำให้รองนายกฯ และ รมว.คลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ต้องออกมาปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังถูกรุกไล่จากพรรคฝ่ายค้าน จำต้องชี้แจงให้เห็นถึงที่มาของรายได้ที่จะนำไปชำระหนี้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทให้กระจ่างชัด การจะปรับขึ้นแวตหรือหารายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีประเภทอื่นอาจเป็นสิ่งจำเป็น แม้ในทางการเมืองรัฐบาลอาจตัดสินใจได้ลำบาก

สิ่งที่รัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการนำทางเลือกในการเพิ่มรายได้หลาย ๆ แนวทางมาพิจารณา ควบคู่กับการทบทวนขยับเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการ อาทิ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันจัดเก็บเพียง 0.005 บาท/ลิตร จากอัตราเต็ม 5.31 บาท/ลิตร

ขณะเดียวกันก็ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ซึ่งค้างเติ่งมาหลายยุคสมัยมาบังคับใช้จากเดิมที่ไม่มีรัฐบาลชุดใดกล้าดำเนินการจริงจัง เพราะหวั่นเกรงจะถูกต่อต้านจากกลุ่มธุรกิจและคนระดับบนที่มีอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ถนน ทางด่วน ท่าเรือ ตลอดจนเส้นทางการคมนาคมทั้งทางน้ำ อากาศ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอำนวยความสะดวกสบายอื่น ๆ

ดังนั้น นอกจากจะผลักดันร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และเดินหน้าลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้สัมฤทธิผลตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกับอุดช่องโหว่รูรั่วการใช้จ่ายงบประมาณไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้การลงทุนมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติในรอบหลายสิบปีให้ผลตอบแทนกลับคืนมาคุ้มค่ามากที่สุดแล้ว รัฐบาลอาจต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่า ในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจะให้แต่ละภาคส่วนในสังคมรับภาระอย่างไร ให้เหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุดด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook