“สร้างบ้านสร้างอาชีพ” 3 แบงก์รัฐเปิดโอกาสให้คนไทยมี “บ้าน-กิจการ” ของตนเอง

“สร้างบ้านสร้างอาชีพ” 3 แบงก์รัฐเปิดโอกาสให้คนไทยมี “บ้าน-กิจการ” ของตนเอง

“สร้างบ้านสร้างอาชีพ” 3 แบงก์รัฐเปิดโอกาสให้คนไทยมี “บ้าน-กิจการ” ของตนเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3 แบงก์รัฐ ได้แก่ ธอส. ธพว. และ บสย. ร่วมโครงการ "สร้างบ้านสร้างอาชีพ" ส่งเสริมคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อที่อยู่อาศัยในระบบได้ และส่งเสริมพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนความรู้ สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ในท้องถิ่นให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. – 28 ธ.ค. 61

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ร่วมจัดทำโครงการ "สร้างบ้านสร้างอาชีพ" เพื่อดำเนินกิจกรรมการสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในท้องถิ่น และสร้างความมั่นคงในการดำเนินกิจการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ โดยลูกค้า ธอส.ที่อยากต่อยอดธุรกิจเพื่อประกอบอาชีพ อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นผู้ประกอบการใหม่หรือมีนวัตกรรมใหม่ สามารถขอสินเชื่อได้ที่ ธพว. โดยมี บสย.ค้ำประกัน

ขณะเดียวกัน ลูกค้า ธพว.และ บสย.ที่มีอาชีพเข้มแข็งแล้ว ต้องการซื้อ สร้าง ขยาย หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย หรือต้องการแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ทเมนท์ หรือสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) สามารถขอสินเชื่อกับ ธอส.ได้

สำหรับการดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจ เริ่มจากเศรษฐกิจระดับฐานราก (Local Economy) ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพให้ประชาชนมีความเข้มแข็งและสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ผ่านธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจ SMEs

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้กรอบความร่วมมือในครั้งนี้ ธอส.พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs โดยการเปิดให้บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่เป็นลูกค้าของ ธพว. และ บสย. ที่มีความต้องการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ ขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการแฟลต/อพาร์ทเมนท์ หรือขอสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) สามารถเลือกใช้สินเชื่อของ ธอส. ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน โดยจะเปิดให้ยื่นกู้และทำนิติกรรมภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2561 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด ประกอบด้วย

1. สินเชื่อรายย่อยทุกประเภทที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้กู้ อาทิ

(1.1) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท) สำหรับลูกค้ารายย่อยรายได้สุทธิไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท

(1.2) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บุคลากรภาครัฐ) (กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท) ให้กู้สำหรับลูกค้ารายย่อยเพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัย

2. สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ/แฟลต/อพาร์ทเมนท์ (กรอบวงเงิน 1,500 ล้านบาท) ให้กู้เพื่อปลูกสร้าง ไถ่ถอนจำนองอาคารแฟลต/อพาร์ทเมนท์ ซื้อที่ดินพร้อมอาคารแฟลต และซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคารแฟลต

3. สินเชื่อพัฒนาโครงการหรือ Pre Finance (กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท) ให้กู้เพื่อก่อสร้างอาคาร พัฒนาสาธารณูปโภค ค่าที่ดิน และการค้ำประกันที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดทำโครงการ สำหรับโครงการที่จัดทำที่อยู่อาศัยทุกประเภทในระดับราคาขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ธพว. พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกค้า ธอส. ที่ประสงค์จะสร้างอาชีพในที่อยู่อาศัยเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

- สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว ดอกเบี้ย 3% ใช้ บสย. ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เกษตรแปรรูป ที่อาศัยอยู่ในชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

- สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 1% ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และ

- สินเชื่อสร้างอาชีพวัยเก๋า ซึ่งผ่อนปรนเกณฑ์ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นตั้งแต่อายุ 55 - 75 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook