สศค.มองส่งออกขยายตัวดีปรับเป้าปีนี้จาก3.3%เป็น4.7%

สศค.มองส่งออกขยายตัวดีปรับเป้าปีนี้จาก3.3%เป็น4.7%

สศค.มองส่งออกขยายตัวดีปรับเป้าปีนี้จาก3.3%เป็น4.7%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มองส่งออกขยายตัวดีปรับเป้าปีนี้จาก 3.3% เพิ่มเป็น 4.7% คงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ 3.6% เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน และไตรมาส 2 ยังขยายตัวต่อเนื่อง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ทาง สศค. ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2560 ไว้ที่ร้อยละ 3.6 แม้ว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีทั้งจากการส่งออก และนำเข้า แต่ยังต้องจับตาการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ว่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 35 ล้านคน หรือไม่ รวมทั้งการเบิกจ่ายงบกลางปีที่จะต้องเป็นไปตามเป้า สำหรับภาคการส่งออก สศค. ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.7 จากเดิมคาดร้อยละ 3.3 ส่วนนำเข้าปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 9.7 จากเดิมคาดร้อยละ 7.5 ส่วนการบริโภคภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.4 จากเดิมคาดร้อยละ 3 ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับลดลงเหลือร้อยละ 9.8 จากเดิมคาดร้อยละ 10.9 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดร้อยละ 3.3 จากเดิมคาดร้อยละ 3 

นอกจากนี้ ยังปรับประมาณการตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมคาด 35.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่เชื่อว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะยังดูแลและติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังเปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และไตรมาส 2/2560 เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่มีมูลค่า 20,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 11.7 ขณะที่ไตรมาส 2 การส่งออกมีมูลค่า 57,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.9 ขณะที่การนำเข้าในเดือนมิถุนายน มีมูลค่า 18,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 ขณะที่ไตรมาส 2 นำเข้ามีมูลค่า 54,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.2 ทำให้ดุลการค้าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกินดุล 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และไตรมาส 2 ดุลการค้าเกินดุล 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 63.4 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook