เป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดง่ายๆ เริ่มได้ด้วย OEM

เป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดง่ายๆ เริ่มได้ด้วย OEM

เป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดง่ายๆ เริ่มได้ด้วย OEM
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยุคนี้อยากเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าอะไรสักอย่าง บอกเลยว่าเป็นเรื่องง่ายมาก ไม่เว้นแม้แต่ เป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีม เพราะมีธุรกิจที่พร้อมจะสนับสนุนให้ความฝันของคุณเป็นจริงได้ในพริบตา

บริการ OEM รับผลิตไอศกรีม จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนอยากทำร้านไอศกรีม แต่ยังไม่คิดจะผลิตเอง หนึ่งในผู้ให้บริการดังกล่าว นั่นคือ นิมณิชา กรรณเลขา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นทูไอซ์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Club Sweety โรงเรียนสอนทำไอศกรีมและผู้นำเข้าเครื่องไอศกรีม ที่ผันตัวเองมารับผลิต OEM ให้กับผู้ที่สนใจอยากมีแบรนด์ไอศกรีมเป็นของตัวเอง

 ice2

นิมณิชา เล่าว่ารูปแบบการให้บริการ OEM รับผลิตไอศกรีมของ Club Sweety มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1.บริการรับผลิตไอศกรีมขายส่ง เป็นสูตรแบบไอศกรีมธรรมดาทั่วไป 2.บริการรับผลิตและคิดสูตรไอศกรีมตามคอนเซ็ปต์และโจทย์ที่เจ้าของแบรนด์ต้องการ และ 3.บริการรับผลิตและคิดสูตรไอศกรีมจากสินค้าหลักที่ลูกค้ากำหนดมาให้


โดยลูกค้าในกลุ่มที่แรกนั้นได้แก่ ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหารที่ต้องการนำไอศกรีมเข้าไปเป็นบริการเสริมให้กับลูกค้า แต่ไม่ต้องการผลิตเอง สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ 2 ได้แก่ คือ ผู้ประกอบการที่คิดอยากมีสูตรไอศกรีมของตัวเอง ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้มักจะกลายเป็นลูกค้าในระยะยาว เพราะมีการจ้างให้ผลิตให้ด้วย และสุดท้ายสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ 3 ได้แก่ บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการจัดกิจกรรม ทำการตลาด หรือส่งเสริมการขาย โดยการนำสินค้ามาผลิตเป็นไอศกรีม

ice3


"บริการ OEM รับผลิตไอศกรีมของเรามีบริการให้เลือกหลากหลาย สำหรับบางคนที่แค่ต้องการมีไอศกรีมเข้าไปขายในร้านของตัวเอง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า เขาสามารถมาซื้อจากสูตรที่เราทำไว้ได้เลย แต่สำหรับบางคนที่ต้องการความพิเศษอยากสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เฉพาะของตัวเองขึ้นมา เราก็รับทำให้ เช่น บางคนอาจอยากได้ไอศกรีมที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือไอศกรีมที่เหมาะสำหรับคนเล่นกล้าม เราก็ไปศึกษาหาข้อมูลและช่วยทำให้ หรืออย่างบางบริษัทอยากทำการตลาดกับสินค้านั้นๆ โดยใช้ไอศกรีมเข้ามาเป็นสื่อกลางเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น

ไซรัปเจ้าหนึ่งปกติจะใช้เฉพาะชงเครื่องดื่ม แต่เขาต้องการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าไซรัปของเขาก็สามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย เราก็ช่วยนำมาคิดสูตรที่เหมาะสำหรับทำไอศกรีมให้ และจัดเป็นเวิร์คช้อปแนะนำการใช้งาน หรืออย่างสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งต้องการโปรโมทตัวเอง เขาอยากสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักขึ้นมา โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ดอกไม้ชนิดหนึ่ง เขาก็มาขอให้เรานำดอกไม้นั้นมาดัดแปลงคิดเป็นสูตรทำไอศกรีมให้ ซึ่งปรากฏว่าเรียกความสนใจจากลูกค้าได้มาก จากที่จะทำแค่เพื่อเรียกลูกค้า ก็กลายเป็นสินค้าหลักที่ทำขายระยะยาวไปเลย จึงกลายเป็นว่าไอศกรีมทุกวันนี้ สามารถเอามาทำอะไรที่หลากหลายได้มากขึ้น เป็นตัวช่วยธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขอให้เป็นของที่กินได้ เราก็สามารถเอามาดัดแปลงทำได้หมด"

 ice5

โดยราคาค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งนั้น นิมณิชากล่าวว่าขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำ รวมถึงปริมาณการสั่ง หากเป็นสูตรที่ไม่ได้หนีจากสูตรพื้นฐานมากนัก ราคาก็อาจถูกกว่า แต่หากเป็นสูตรแปลกใหม่ที่อาจต้องใช้เวลาการทดลองทำหลายครั้ง ราคาก็อาจแพงกว่า โดยหากเป็นไอศกรีมสูตรธรรมดาทั่วไปที่ผลิตขายส่งอยู่แล้วราคาอาจอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 – 300 บาท แต่หากเป็นไอศกรีมที่ต้องมีการคิดสูตรขึ้นมาเฉพาะจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการคิดสูตร ค่าปริมาณการผลิต เป็นต้น โดยกำลังการผลิตเฉลี่ยในแต่ละวันสามารถผลิตได้มากถึง 100 กิโลกรัมขึ้นไป


ถามว่าสำหรับผู้สนใจอยากติดต่อเข้ามาใช้บริการต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เจ้าของแบรนด์ Club Sweety กล่าว่า สิ่งแรกที่ต้องเตรียมมา คือ โจทย์ หรือ ความต้องการ จากนั้นจึงจะมีการคิดวิเคราะห์ เพื่อทดลองทำสูตรอย่างที่ต้องการ และจึงมีการปรับเพื่อหาสูตรที่ลงตัว เพื่อผลิตเป็นไอศกรีมสำเร็จรูปออกมา

 ice6

“สิ่งแรกที่คุณต้องมีให้กับเรา คือ โจทย์ไอศกรีมที่คุณอยากได้ สมมติเช่นอยากได้ไอศกรีมที่กินแล้วไม่อ้วน ช่วยลดน้ำหนักได้ คุณก็ต้องกำหนดมาว่าอยากได้น้ำตาลกี่เปอร์เซ็นต์ ไขมันเท่าไหร่ แคลอรี่เท่าไหร่ และอยากให้รสชาติออกมาแบบไหน หน้าตาเป็นยังไง เราก็จะมาช่วยคิดให้ โดยหาสูตรที่ลงตัวตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ขณะเดียวกันก็ต้องได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่โอเค กินแล้วอร่อย นี่คือ หัวใจสำคัญของการทำ OEM ไอศกรีมของเราเลย

ซึ่งโดยเฉลี่ยหากคุยกันและหารูปแบบไอศกรีมที่ต้องการทำได้แล้ว จะใช้เวลาทดลองทำปรับสูตรกันประมาณ 3 ครั้ง ก็จะได้เป็นไอศกรีมสำเร็จรูปออกมา โดยหากลูกค้าที่ต้องการผลแลปรับรอง เพื่อนำไปการันตีในส่วนประกอบต่างๆ เราก็สามารถขอให้ได้ด้วย แต่ในกรณีที่ลูกค้าอาจยังไม่มีโจทย์อะไรมาเลย รู้แค่ว่าอยากทำไอศกรีมของตัวเองขาย ก็ต้องลองเข้ามาคุยกันก่อนว่ามีกลุ่มลูกค้า คือ ใคร หรือโลเคชั่นตั้งอยู่ที่ไหน จะทำไอศกรีมรูปแบบใด เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการหรือปัจจัยที่มีอยู่”

 ice4

จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดมานานในสายอาชีพนี้ นิมณิชาได้แสดงความคิดเห็นถึงอนาคตธุรกิจไอศกรีมโฮมเมดว่า ยังเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตออกไปได้ไกล เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคต่างหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะสามารถขายได้ด้วยตัวเองแล้ว ไอศกรีมอาจกลายเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอื่นๆ ได้ด้วยดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว

Text : Miss.nim
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ เป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดง่ายๆ เริ่มได้ด้วย OEM

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook