สรุปภาวะตลาดทุนรายสัปดาห์

สรุปภาวะตลาดทุนรายสัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เงินบาทอ่อนค่าลงขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงท้ายสัปดาห์”โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน       อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังค่อนข้างคงที่ โดยมีการตัดจ่ายเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือนผ่านระบบธนาคารในช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นที่ระดับ 1.15% ตลอดทั้งสัปดาห์เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่อัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1, 7 และ 14 วัน เคลื่อนไหวใกล้ระดับ 1.25% ทางด้านคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบเดิมในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2552      อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ระดับ 3.57% ในวันศุกร์ ขยับขึ้นจาก 3.54% เมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับขึ้นลงในกรอบแคบ ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่เงียบเหงา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะต่ำกว่า 15 ปี บางประเภท ปรับลดลง ส่วนหนึ่งได้รับจากอิทธิพลของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 3.48% ในวันพฤหัสบดี ปรับลดลงจาก 3.55% ในวันศุกร์ที่แล้ว โดยตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพุธ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับขึ้น หลังจากที่ตลาดตอบรับข่าวดีเกี่ยวกับการที่อาบูดาบีตกลงให้เงินช่วยเหลือจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ แก่ดูไบเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สิน ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ขณะที่แถลงการณ์หลังการประชุมสะท้อนว่าเฟดมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับลงในวันพฤหัสบดี ตามการปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก รวมทั้งจากการรายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นเกินคาด  เงินบาทในประเทศ (Onshore) ปรับตัวอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทได้รับแรงหนุนเพียงเล็กน้อยจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก และทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคหลังมีรายงานข่าวระบุว่า อาบู ดาบี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้เงินช่วยเหลือแก่ดูไบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้อิสลามของนาคีล (บริษัทหนึ่งในเครือดูไบ เวิลด์) วงเงิน 4.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงต้นสัปดาห์ แต่กระนั้นก็ดี เงินบาทได้ลดช่วงบวกทั้งหมดลง และปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยถูกกดดันจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจากมุมมองในเชิงบวกของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนสิ้นปีของนักลงทุน นอกจากนี้ ความต้องการเงินดอลลาร์ฯ จากฝั่งผู้นำเข้าก่อนช่วงสิ้นเดือน และทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์(18ธ.ค.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.21 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 33.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ธันวาคม)  ในสัปดาห์นี้ (21-25 ธันวาคม 2552) ธนาคารพาณิชย์คงจะมีการทยอยเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต่อเนื่องถึงปีใหม่ รวมถึงการปิดงบบัญชีงวดสิ้นปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นน่าจะยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.25% อย่างต่อเนื่องส่วนเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 33.15-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย.ของกระทรวงพาณิชย์ ทิศทางของสกุลเงิน/ตลาดหุ้นในภูมิภาค และสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของธปท. ขณะที่ ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ อาจขึ้นอยู่กับการปรับโพสิชั่นของนักลงทุนก่อนสิ้นปี และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน (ขั้นสุดท้าย) เดือนธ.ค. ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลรายได้/การบริโภคส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน เดือนพ.ย. รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงาน GDP ประจำไตรมาส 3/2552 (รอบสุดท้าย) ทั้งนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 25 ธ.ค. 2552 เนื่องในวันคริสต์มาสการเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโรในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินเยนขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับปัจจัยบวกจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกและนักลงทุนญี่ปุ่นก่อนสิ้นปี อย่างไรก็ตาม เงินเยนต้องลดช่วงบวกทั้งหมด และปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงต่อมา โดยถูกกดดันจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุนเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนสิ้นปี นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการยืนยันแผนการถอนมาตรการด้านสภาพคล่อง (ในวันที่ 1 ก.พ. 2553) ในแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 2552 อีกด้วย สำหรับในวันศุกร์ เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 90.24 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับ 89.05 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ธันวาคม) โดยเงินเยนเผชิญแรงขายหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุภายหลังการประชุมนโยบายการเงินว่า จะไม่ผ่อนปรนต่ออัตราเงินเฟ้อที่เท่ากับหรือต่ำกว่าศูนย์  เงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังข่าวอาบู ดาบีให้เงินช่วยเหลือแก่ดูไบมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (เพื่อชำระค่าไถ่ถอนหุ้นกู้อิสลามวงเงิน 4.1 พันล้านดอลลาร์ฯ ของบริษัทนาคีล และสนับสนุนการดำเนินงานของดูไบ เวิลด์) ได้หนุนความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนให้ฟื้นตัวขึ้นมาบางส่วน อย่างไรก็ตาม เงินยูโรต้องเผชิญแรงขายอย่างหนักในช่วงต่อมา โดยถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของธนาคารบางแห่งในยูโรโซน และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ของสถาบัน ZEW ของเยอรมนีที่ร่วงลงมากเกินคาด ตลอดจนความวิตกครั้งใหม่เกี่ยวกับฐานะการคลังที่อ่อนแอของกรีซ หลังจากที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ “BBB+” จาก “A-“ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุนก่อนสิ้นปี และจากมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแถลงการณ์หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับในวันศุกร์ เงินยูโรฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมายืนที่ระดับประมาณ 1.4391 (ตลาดยุโรป) เทียบกับระดับระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ 1.4302 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ที่ทำไว้ระหว่างสัปดาห์ และระดับ 1.4621 ดอลลาร์ฯ ต่อยูโร ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ธันวาคม)  ภาวะตลาดทุน    ตลาดหุ้นไทย  “ดัชนี SET ลดช่วงบวกลงท้ายสัปดาห์” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 715.68 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.71% จาก 703.64 จุดในสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 59.05% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 57.60% จาก 46,730.23 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 73,647.80 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงจาก 15,576.74 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 14,729.56 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิที่ 3,014.22 ล้านบาท และ 1,093.52 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 2,589.85 ล้านบาท และ 1,517.88 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 214.06 จุด ขยับลง 0.03% จาก 214.12 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่พุ่งขึ้น 31.38% จากสิ้นปีก่อน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค     ดัชนีหุ้นไทยปิดปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ในวันจันทร์ โดยได้รับปัจจัยบวกจากข่าวที่ดูไบได้รับเงินช่วยเหลือจากอาบู ดาบี ซึ่งช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุน รวมถึงยังมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เข้ามาช่วยหนุนการลงทุนด้วย จากนั้น ดัชนีปิดลดลงเล็กน้อยในวันอังคาร ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคที่อ่อนตัวลง แม้จะมีแรงซื้อหุ้นในกลุ่มพลังงานเข้ามาช่วยพยุงตลาดก็ตาม ส่วนในวันพุธ ดัชนีปิดปรับตัวขึ้นอีก โดยแรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างโดดเด่นในหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และเกษตร ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนและทำให้ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่คณะรัฐมนตรีต่ออายุบางมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยต่อไปอีก 3 เดือน อย่างไรก็ตาม ดัชนีปิดลบเล็กน้อยในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ หลังเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลง สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ (21-25 ธ.ค. 52) บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีอาจยังคงได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนที่ระดมได้ผ่าน LTF และ RMF รวมทั้งจากการทำราคาปิดสิ้นงวดบัญชี (Window Dressing) ในช่วงปลายปี โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ การประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 ธ.ค. การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวของตลาดหุ้นภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขจีดีพี (ทบทวนครั้งสุดท้าย) ประจำไตรมาส 3/2552 ในวันอังคาร และยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) ในวันพุธ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 695 และ 680 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 719 และ 750 จุด ตามลำดับ     ตลาดหุ้นสหรัฐฯ “ดัชนี DJIA ปรับตัวลง จากระดับปิดสูงสุดในรอบ 14 เดือน”เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2552 ดัชนี DJIA ปิดที่ 10,308.26 จุด ปรับตัวลดลง 1.56% เมื่อเทียบกับ 10,471.50 จุด เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน แต่พุ่งขึ้น 17.45% จากสิ้นปี 2551 ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,180.05 จุด ขยับลง 0.47% เมื่อเทียบกับ 2,190.31 จุด ปลายสัปดาห์ก่อน แต่พุ่งขึ้น 38.24% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนในวันจันทร์ โดยได้รับแรงหนุนจากข่าวการอัดฉีดเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ของอาบูดาบีเพื่อช่วยดูไบให้สามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกในตลาด ขณะที่ข้อตกลงเทคโอเวอร์ของบริษัทเอ็กซอนโมบิล คอร์ป ได้เพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับกิจกรรมการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดลดลงในวันอังคาร โดยดัชนี DJIA และดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน จากความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการเปิดเผยรายงานแนวโน้มธุรกิจที่ทรงตัวในปี 2553 ของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) ส่วนในวันพุธ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกเล็กน้อย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวย้ำถึงความตั้งใจที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในอนาคตอันใกล้เพื่อทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดลดลงอีกในวันพฤหัสบดี โดยการดีดตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ ลดความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ขณะที่แนวโน้มผลกำไรที่อ่อนแอจากบริษัทเฟดเอ็กซ์ถ่วงหุ้นกลุ่มการขนส่ง     ตลาดหุ้นญี่ปุ่น  “ดัชนี NIKKEI ลดช่วงบวกลง หลังแตะระดับปิดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์”เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2552 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 10,142.05 จุด ขยับขึ้น 0.34% จากปิดตลาดที่ 10,107.87 จุด เมื่อสัปดาห์ก่อน และพุ่งขึ้น 14.48% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยดัชนี NIKKEI ลดช่วงติดลบลงและปิดตลาดทรงตัวในวันจันทร์ หลังดูไบได้รับเงินช่วยเหลือ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากอาบู ดาบี ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ส่วนในวันอังคาร ดัชนี NIKKEI ปิดปรับตัวลง โดยหุ้นกลุ่มส่งออกร่วงลงจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเยน ขณะที่นักลงทุนระมัดระวังก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ปรับตัวขึ้นแตะระดับปิดสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ในวันพุธ โดยหุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้น หลังมีรายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารระดับโลกได้เห็นพ้องกันในการกำหนดกรอบการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบใหม่ด้านเงินทุน โดยใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 10 ปี ซึ่งจะส่งผลให้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไป แต่ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันถัดมา จากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากที่ทะยานขึ้นในช่วงก่อนหน้า ดัชนี NIKKEI ปิดปรับตัวลงต่อในวันศุกร์ นำโดยแรงถ่วงจากหุ้นกลุ่มโลหะ หลังราคาทองได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook