อสังหาฯถกที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

อสังหาฯถกที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย

อสังหาฯถกที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เร่งหารือลักษณะดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ก่อนเสนอรองนายกฯ ชี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ หนุนภาพรวมธุรกิจไตรมาสสุดท้าย โตกว่า 25%

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า การจัดโครงการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้ร้อย จำนวน 2.7 ล้านหน่วย ที่จะใช้เงินลงทุนกว่า 6.9 แสนล้านบาท นั้น เป็นโครงการที่ดี แต่ภาคเอกชนยังมีข้อห่วงใย ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเร็วๆ นี้ ก่อนว่า ลักษณะการดำเนินการจะเป็นแบบใด เช่น เปิดให้เอกชนรายเดียวดำเนินโครงการ ตามรายพื้นที่ของโครงการ หรือ จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ระหว่างรัฐและเอกชน และจัดหาผู้ที่มาดำเนินโครงการ เนื่องจากยอมรับว่า เป็นโครงการใหม่ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน ดังนั้น จะต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะนำสรุปเบื้องต้นเพื่อเสนอต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ภายใน 1 เดือน

นอกจากนี้ มองว่า ภาครัฐต้องมีแผนรองรับในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย มิเช่นนั้น อาจเกิดปัญหาในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อบ้านสร้างแล้วเสร็จ ขณะเดียวกัน ได้ขอให้กรมธนารักษ์พิจารณาในการขยายระยะเวลาเช่าพื้นที่ให้มากกว่า 30 ปี เป็น 90 ปี ด้วย

ด้าน นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีด้านบริหารกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการสำรวจจัดหาที่ราชพัสดุ เพื่อใช้ก่อสร้างในโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งแนวทางการดำเนินการ อาจให้เอกชน หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น การเคหะแห่งชาติเป็นผู้เช่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล คาดว่า จะช่วยหนุนให้ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ฟื้นตัวขึ้น โดยประเมินว่า ในไตรมาสสุดท้ายจะมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 และส่งผลให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ไม่ติดลบ และกลับมาบวกได้เล็กน้อย ขณะที่แนวโน้มในปี 2559 มีความกังวล ว่า ตลาดภูมิภาคอาจเติบโตเพียงร้อยละ 0 เนื่องจากอาจยังมีปัญหาจากภาวะพืชผลเกษตรที่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง โดยยังต้องติดตามเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างใกล้ชิด ส่วนกรุงเทพ - ปริมณฑล เชื่อว่า จากมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะช่วยให้เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

นอกจากนี้ นายอธิป กล่าวว่า ราคาประเมินที่ดินใหม่ที่สูงขึ้น ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ดังนั้นในปี 2559 เป็นต้นไป การปรับลดราคาที่อยู่อาศัยอาจเป็นไปได้ยาก แม้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการได้หันไปใช้โปรโมชั่นในการดึงดูดลูกค้า มากกว่าการปรับลดราคา ซึ่งการแข่งขันของผู้ประกอบการขณะนี้ได้ทยอยเร่งเปิดโครงการใหม่ เนื่องจากผู้ซื้อเกิดความกระตือรื้อร้น โดยที่อยู่อาศัยแบบแนวราบจะมีการเปิดโครงการมากที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook